記事
PRODUCTIVITY IMPROVEMENT
21/10/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจส่วนมากต่างเคยชินกับการทำงานหนักเพื่อผลักดันองค์กรให้อยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร ตลอดจนเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลให้ แนวคิดของผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งเป็นการวัดประสิทธิภาพควบคู่ไปกับประสิทธิผลของกระบวนการทำงาน เริ่มเป็นที่พูดถึงและถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศและองค์กร
โดยคำนิยามของผลิตภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย คือ อัตราส่วนของปริมาณผลิตผล (Output) ต่อปริมาณต้นทุน (Input) ผลิตภาพที่สูงจึงเป็นเครื่องหมายของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น วัตถุดิบคุณภาพดี บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นต้น
ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมารวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ แนวทางที่หลายองค์กรเริ่มนำมาปฏิบัติคือ การเพิ่มผลิตภาพของกระบวนการผลิตสินค้าและบริการโดยการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมเข้ามาใช้เพื่อช่วยให้กระบวนการผลิตมีความรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว
เมื่อพูดถึงระบบอัตโนมัติหลายท่านอาจนึกภาพหุ่นยนต์หรือแขนกลขนาดใหญ่ที่มีระบบการทำงานซับซ้อนแต่ที่จริงแล้วระบบอัตโนมัติที่นิยมนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้นสามารถประกอบด้วยองค์ประกอบตั้งแต่ระบบงานง่ายๆ เช่น ระบบสายพาน (Conveyor) อุปกรณ์ RFID รวมถึง IoTs เช่น เซ็นเซอร์ที่ปัจจุบันถูกนํามาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการคลังสินค้าเพื่อติดตามและแสดงตัวตนของสินค้า/ วัตถุดิบ กิจกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ไปจนถึงระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น แขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหรืออุปกรณ์จักรกล (Industrial Robots) เครื่องจักรหรือสายการประกอบชิ้นงาน (Assembly) เป็นต้น
ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐของไทยเองก็สนับสนุนและพยายามผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม transform ไปสู่ Industry 4.0 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตบางส่วนไปสู่ระบบอัตโนมัติจึงเป็นการลงทุนที่มีความน่าสนใจโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ เช่น การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น ซึ่งมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าวก็ยังครอบคลุมไปถึงการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม การยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล และการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการชาวไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในประเทศที่เป็น 1 ใน 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คณะกรรมการ BOI ก็ยังกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกรณีที่โครงการลงทุนเลือกใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศ โดยสามารถขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสูงถึงร้อยละ 100 ของเงินลงทุนเลยทีเดียว
สภาวะการแข่งขันที่ยิ่งทวีความเข้มข้นต่อจากนี้จะกลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทและองค์กรทุกขนาดต้องออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ โดยการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโปรเจคใช้เงินลงทุนจำนวนมากหรือมีเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้นเพราะหลายกรณีการเพิ่มผลิตภาพสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การปรับเปลี่ยนมุมมองหรือวิธีทำงานที่นำไปสู่ประสิทธิภาพควบคู่กับประสิทธิผลซึ่งอาจไม่มีต้นทุนเลยด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ในระยะยาวนั่นเอง