記事
METAVERSE
27/12/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงและกำลังอยู่ในกระแสความสนใจเป็นอย่างมากตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น “Metaverse” หลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Metaverse Company โดยข้อมูลจาก Google Trends ระบุว่า มีการค้นหาคำว่า “Metaverse” เกิดขึ้นกว่า 2.62 ล้านครั้งภายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
Metaverse เป็นโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิต ทำกิจกรรม และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมือนกำลังอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ นอกจากนี้แล้วในโลก Metaverse ยังสามารถมีการซื้อขายสินค้าและบริการโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนอีกด้วย ซึ่งการเชื่อมต่อโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อนั้นต้องอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานสำคัญอย่าง AR และ VR รวมถึงความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกเสมือนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์
ในปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับ Metaverse เป็นอย่างมาก โดยบริษัทชั้นนำระดับโลกต่างก็เตรียมพร้อมเข้าสู่โลก Metaverse เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่ง เช่น บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft ที่มีแผนจะนำ Metaverse มาใช้กับซอฟต์แวร์ต่างๆ โดยเริ่มจากการพัฒนา Microsoft Teams ให้สามารถสร้าง Avatars และแชร์ไฟล์ Power Point บนโลกเสมือนจริงได้ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียเองก็มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนที่มุ่งเดินหน้าสู่โลก Metaverse เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent ที่ทำการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse เป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัท Search Engine อันดับหนึ่งของจีนอย่าง Baidu เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Xi Rang ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคมนี้ นอกจากจีนแล้วเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้ามาสู่โลก Metaverse อย่างจริงจังโดยรัฐบาลมหานครโซลได้ประกาศแผนพัฒนา Metaverse ระยะ 5 ปี พร้อมกับการจัดสรรงบประมาณกว่า 108 ล้านบาท เพื่อทำให้กรุงโซลกลายเป็นเมือง Metaverse เมืองแรกของโลก โดยตั้งเป้าให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2026
การเกิดขึ้นของ Metaverse จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกันกับยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาสู่โลกของเราและส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งธุรกิจที่เป็นที่จับตามองว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการเข้าสู่โลก Metaverse ในระยะแรก ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะประเภทสวมใส่ ธุรกิจบันเทิง โดยจากรายงานของ Bloomberg Intelligence ได้ประเมินว่า มูลค่าของตลาด Metaverse จะเติบโตขึ้นจาก 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมาเป็น 7.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 13 ต่อปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสวนทางกับต้นทุนอาจส่งผลทำให้ Metaverse เกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คาดคิด การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนบน ‘โลกคู่ขนาน’ อันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจเองก็ต่างต้องพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลใหม่ๆ ปรับรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะและความสามารถเพื่อรองรับงานในโลกอนาคตด้วยเช่นกัน