記事

DEMAND-DRIVEN & PRECISION EDUCATION

12/01/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เราต่างทราบกันดีว่าในปัจจุบันโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเนื่องจากกระแส Digital Disruption ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การพัฒนาเพื่อเพิ่มทักษะแห่งอนาคตจึงกลายเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทุกคนต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

เนื่องจากเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 นั้นมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญส่งผลทำให้ความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปโดยมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะแห่งอนาคตมากขึ้น การพัฒนารูปแบบการศึกษาและการผลิตบุคลากรที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวคิดแบบ Supply Push จึงทำให้แรงงานส่วนมากมีทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเกิดเป็นช่องว่างทางทักษะที่นำมาซึ่งภาวะตกงานและภาวะการขาดแคลนแรงงานในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาระบบการศึกษาไปสู่รูปแบบ Demand-driven เพื่อให้ได้มาซึ่งแรงงานที่มีทักษะและจำนวนตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ

โดยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาไปสู่รูปแบบ Demand-driven นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลและแรงงานให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมได้ จากการศึกษากรณีตัวอย่างพบว่า หลายประเทศมีแนวทางการพัฒนาบุคลากรที่น่าสนใจ อาทิเช่น โครงการ SkillsFuture ของสิงคโปร์ที่จัดทำแผนร่วมกับแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมทำให้การวางแผนผลิตแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะเป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีสถาบัน KOSEN ของญี่ปุ่นและการศึกษาแบบ Dual Vocational Training ของเยอรมนีที่เน้นการพัฒนาบุคลากรสายอาชีวะโดยเป็นการศึกษาแบบคู่ขนานที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงานจริง เป็นต้น

สำหรับโครงการ EEC เองก็มีการผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้เกิดความต้องการแรงงานและทักษะงานรูปแบบใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับการศึกษาให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการและนักลงทุนได้ ปัจจุบันภาครัฐและ EEC จึงต่างเร่งพัฒนาบุคลากรผ่านความร่วมมือของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน โดยมี EEC HDC เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand Driven ผ่าน EEC Model ที่มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยมีกลไกให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมการทำงานจริง รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายและรับประกันการจ้างงานหลังจบการศึกษาอีกด้วย

สำหรับภาคเอกชนเองก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการศึกษาเช่นกัน อาทิ WHA Group ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรจึงมีความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะในการจัดทำโครงการ Dual Vocational Education (DVE) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ปฏิบัติงานควบคู่ไปกับการเรียนภาคทฤษฎี นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันไทย-เยอรมัน ในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในพื้นที่ EEC เป็นต้น

นอกเหนือจากมาตรการสิทธิประโยชน์และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันแล้ว ความพร้อมด้านแรงงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน การมุ่งพัฒนาแรงงานที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืนนั่นเอง