記事

TRANSFORMATIVE LEARNING

11/12/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การเรียนรู้เป็นความสามารถที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะการเรียนรู้ทำให้มนุษย์สามารถปรับตัว พัฒนา รวมถึงสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมได้อย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกจึงต่างหันมาสนใจเรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถของประชากรของตนมากขึ้น

จากรายงาน "ดัชนีชี้วัดความสามารถการแข่งขันในการดึงดูด พัฒนา และรักษาคนเก่งทั่วโลก" หรือ Global Talent Competitiveness Index ประจำปี 2019 ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบัน INSEAD ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Adecco Group AG ได้เปิดเผยข้อมูลศักยภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกว่า 125 ประเทศ ซึ่งในภาพรวมประเทศแถบทวีปยุโรปยังคงครอง 8 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดและบ่มเพาะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพโดยมีประเทศสิงคโปร์และสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าผลการจัดอันดับ GTCI ในปี 2019 จะขยับมาเป็นอันดับที่ 66 ดีกว่าปีที่แล้วที่อยู่อันดับที่ 73 แต่หากเปรียบเทียบกับศักยภาพของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียอาจยังถือว่าเป็นรองบางประเทศ อาทิเช่น มาเลเซีย (27) จีน (45) ฟิลิปปินส์ (58) เป็นต้น การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ความสามารถให้แก่ทรัพยากรบุคคลของไทยจึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต่างก็ให้ความสำคัญ

หนึ่งในแนวคิดวิธีการเรียนรู้ที่สอดรับกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมากคือ ทฤษฎีการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformative Learning ของศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน Jack Mezirow ที่นำเสนอวิธีการเรียนรู้โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังความคิดหรือทัศนะคติ (Mindset) ที่ถูกต้องเพื่อส่งเสริมให้กระบวนการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการเข้ากับการปฏิบัติจริงจนเกิดความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอาศัยประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเอง ซึ่งแนวทางการเรียนรู้ดังกล่าวก็มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของการนำความรู้ไปใช้ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจ การคิดวิพากษ์ และการตั้งคำถามจนนำไปสู่การสังเคราะห์และสามารถต่อยอดได้อย่างมีผลิตภาพ

ข้อมูลจากแหล่งทั้งภายในและภายนอกประเทศต่างก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาคุณภาพแรงงานได้กลายมาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นกว่าอันดับดังเช่นที่เป็นอยู่ ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะนำแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริงผ่านการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาโดยการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เพื่อการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ การวิจัยและการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการ EEC ที่นอกจากจะกำหนดให้อุตสาหกรรมการพัฒนาคนและการศึกษาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 10+2 แล้ว โครงการ EEC ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยดึงดูดและพัฒนาทักษะทรัพยากรบุคคลผ่านโครงการต่างๆ อาทิเช่น สัตหีบโมเดลที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ และภาคเอกชนที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง ตลอดจนโครงการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของแรงงานยุคใหม่ผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ เป็นต้น

เหมือนที่ผู้เขียนมักพูดอยู่เสมอว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้ต้องการ high-skilled worker แต่เราต้องการ knowledgeable worker การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์จึงเปรียบเสมือนการลงทุนระยะยาวที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ช่วงการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองพร้อมทั้งอุดมไปด้วยทรัพยากรสำหรับการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่หลังจากนี้นั่นเอง