記事
EEC FOCUS
19/08/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปี 2020 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลกซึ่งเหตุการณ์จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามและเป็นกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโครงการ EEC หรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้นำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ที่น่าจะเป็นข้อมูลและช่วยตอบข้อสงสัยให้แก่ท่านผู้อ่านที่สนใจไปพร้อมๆ กัน
(1) สถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)
แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลงแต่ WHA Group ก็ยังคงได้รับการติดต่อจากนักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศจีน ญี่ปุ่นและไต้หวันที่แสดงความสนใจและมีความพร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหากภาครัฐกำหนดให้มีมาตรการผ่อนปรนการเดินทางที่ช่วยให้การติดต่อธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของ FDI ที่ตามมาในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนั้น โครงการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการส่งเสริมให้บริษัทของตนย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงและกรณีข่าวบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 15 แห่งที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามนั้น ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาถึงประเภทของอุตสาหกรรมและขนาดบริษัทประกอบด้วย เนื่องจากโครงสร้างประชากรอายุน้อยทำให้เวียดนามสามารถรองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมากและค่าแรงราคาถูกได้เป็นอย่างดีซึ่งในขณะเดียวกันก็มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงก็ได้แสดงเจตจำนงย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน
(2) ความต่อเนื่องของโครงการเนื่องจากการปรับคณะรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ
ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 รวมถึงแผนงาน EEC เองก็ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (ด้านการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ)
อย่างไรก็ตาม นอกจากการประกาศเป็น พ.ร.บ. และบรรจุโครงการไว้ในแผนงานอย่างเป็นทางการแล้วก็เหมือนที่ผู้เขียนมักสื่อสารเมื่อมีโอกาสเสมอว่า EEC เป็นตัวจุดประกายทำให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในสายตาของนักลงทุนอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยตกแผนที่โลกไปแล้ว รวมถึงโครงการ EEC นั้นมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ต้นแบบของการ Transform โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจาก “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตและส่งออกไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ซึ่งหากสามารถผลักดันโครงการ EEC ได้ตามแผนงานที่วางไว้ เศรษฐกิจของไทยก็จะพัฒนายกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง (Leapfrog) นำหน้าทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
(3) ความคืบหน้าของโครงการที่เกี่ยวข้อง
โครงการที่มีการลงนามสัญญาร่วมทุนกับภาคเอกชนและเริ่มดำเนินการแล้วประกอบด้วย (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (2) ท่าเรือมาบตาพุด และ (3) สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตลอดจนโครงการท่าเรือแหลมฉบังก็สามารถสรุปผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้นความก้าวหน้าของงานพัฒนาภายในพื้นที่ยังครอบคลุมถึงการผลักดันศูนย์ EEC-OSS เพื่ออำนวยความสะดวกและลดระเบียบขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ โครงการ SMART Visa การจัดตั้งคณะทำงาน EEC-HDC เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาทักษะและการผลิตบุคลากรแบบ Demand-Driven, สัตหีบโมเดล รวมถึงโปรเจคด้านการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ที่ต่างก็มีความก้าวหน้าตามแผนงานที่วางไว้อีกด้วย