記事
SERVICIFICATION
17/02/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของยุคศตวรรษที่ 21 ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล แนวคิด Industry 4.0 ได้ transform เศรษฐกิจของโลกยุคใหม่กลายเป็น Value-Based Economy ที่แข่งขันและขับเคลื่อนอยู่บนนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้สมัยใหม่ พลังของ Exponential Technology ทำให้เส้นแบ่งระหว่างภาคการผลิตและบริการเลือนรางจนทำให้ทั้งสองภาคส่วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเน้นคุณค่า ภาคบริการกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงบทบาทของภาคบริการที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดที่ขั้นปลายของห่วงโซ่คุณค่าหรือเป็นผลผลิต (By-product) ที่มาควบคู่กับสินค้าชนิดหนึ่งๆ เพียงเท่านั้น แต่ภาคบริการสมัยใหม่ยังสะท้อนอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตสินค้า เช่น การวิจัยพัฒนา หรือ การออกแบบ เป็นต้น
นอกจากนั้น ปรากฏการณ์ Servicification of Manufacturing ดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเมื่อสินค้าทางกายภาพได้รับการพัฒนาจนมีอรรถประโยชน์และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการให้บริการ (Embedded Services) อาทิเช่น Smartphone ที่มาพร้อมกับ application การใช้งานมากมาย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น AI และ Big data เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย ฯลฯ ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบดังกล่าวก็ส่งผลทำให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของงานบริการที่แฝงอยู่ในมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็คาดการณ์การมีส่วนร่วมของภาคบริการภายใต้แนวคิดมูลค่าเพิ่ม (Value-added Concept) ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกในปี 2025 เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย ภาคบริการถือว่ามีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งรายได้หลักของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาคบริการของไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง Traditional Services เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ยังคงครองความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ขณะที่ Modern Services เช่น การให้บริการด้าน IT กลับมีขนาดเล็กและขยายตัวไม่มากนัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Modern Services ของไทยมีมูลค่าเฉลี่ยคิดเป็นเพียงร้อยละ 14 ของ GDP เท่านั้น รวมถึงยังมีการกระจุกตัวในภาคการเงินและโทรคมนาคมที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก
การส่งเสริมภาคบริการโดยเฉพาะ Modern Services ให้เติบโตเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยทั้งด้านการออกแบบและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ อาทิ กฎระเบียบเพื่อการส่งเสริมที่ไม่แบ่งแยกระหว่างสินค้าและบริการออกจากกัน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของภาคบริการ ทั้งด้านจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพหรือธุรกิจใหม่ๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ให้บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น กลุ่ม STEM เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนให้ Traditional Service ปรับเปลี่ยนหรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น การสนับสนุน Free Software หรือ Online Platform สำหรับบริการท่องเที่ยว เช่น การจองที่พัก การตรวจสอบเส้นทางรถโดยสาร เป็นต้น
พลังของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ส่งผลทำให้ภาคการผลิตและการบริการเกี่ยวพันเชื่อมโยงจนแยกออกจากกันได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า/ ผลิตภัณฑ์/ บริการของตนเพราะนอกจากจะส่งผลดีในด้านของโอกาสและรายได้ที่สูงขึ้นแล้ว ในระยะยาวเองก็ย่อมหมายถึงศักยภาพทางการแข่งขันและความพร้อมในการปรับตัวตามบริบทของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไปนั่นเอง