記事
SEMICONDUCTORS
09/06/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ การพัฒนาของอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชิ้นเล็กๆ อย่างเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เซมิคอนดักเตอร์คืออะไร และเหตุใดเจ้าอุปกรณ์ขนาดจิ๋วนี้จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ วันนี้เราจะมาลองหาคำตอบกันดูค่ะ
หากพิจารณาคำจัดความเชิงเทคนิค Semiconductor หรือ สารกึ่งตัวนำแท้จริงแล้ว คือ วัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าอยู่ระหว่างสารตัวนำไฟฟ้าและฉนวน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Semiconductor ได้ถูกขยายความและนำมาใช้เรียกชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยคุณสมบัติของสารกึ่งตัวนำเหล่านี้เป็นพื้นฐานด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ทรานซิสเตอร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางและปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้า แผงวงจรรวม (Integrated Circuit) หรือชิป (Chip) ซึ่งเป็นแผงวงจรขนาดเล็กที่ใช้สำหรับการประมวลผล รับ-เก็บ-ส่งข้อมูล และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งต่างๆ รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ไปจนถึงรถยนต์ เป็นต้น
เนื่องจากการผลิต Semiconductor นั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนทั้งการออกแบบ กระบวนการผลิต รวมถึงต้องมีเงินลงทุนและทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงทำให้มีผู้เล่นในอุตสาหกรรมจำนวนน้อยราย ซึ่งในอดีต Intel ก็ครองตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 จากการเป็นผู้ผลิตชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาโดยตลอด แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ทำให้อันดับผู้นำอุตสาหกรรมเปลี่ยนมือไปสู่บริษัท Samsung ที่ในปี 2017 สามารถทำรายได้แซง Intel ได้สำเร็จโดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited (TSMC) บริษัทรับผลิต (Foundry) แผงวงจรตามการออกแบบของลูกค้าจากเกาะไต้หวัน คู่ค้าหลักของ Apple, Nvidia ที่ปัจจุบันครองสัดส่วนตลาดมากกว่า 50% รวมถึงประเทศจีนที่พยายามผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตชิปและบริษัทสัญชาติตนเองอย่าง SMIC ตามแผนการสร้างความมั่นคงด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคตอีกด้วย
การเติบโตของธุรกิจ Data Center, Cloud Computing และ IoT เมื่อประกอบเข้ากับสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลทำให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผู้ผลิตหลายราย อาทิ GM, Volkswagen, Nissan, Honda ฯลฯ จำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตรถยนต์ในบางรุ่น เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่างตัดสินใจที่จะผลิตชิปเพื่อป้อนให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์ที่โดยเฉลี่ยแล้วมียอดการสั่งซื้อในปริมาณที่ต่ำกว่า
เมื่อทรัพยากรมีจำกัด เหล่าผู้ผลิตต่างอุตสาหกรรมจึงต้องแย่งชิงทรัพยากรที่เหลืออยู่อย่างเข้มข้น ทั้ง TSMC และ Intel ก็คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาดจะคงอยู่ไปจนถึงปี 2022 ก่อนจะเริ่มเห็นสถานการณ์ของ supply chain ที่ดีขึ้นในปี 2023 ความเปราะบางและความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงยังคงเป็นจุดอ่อนที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์ และลดผลกระทบให้น้อยที่สุด
สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงได้แต่ตั้งความหวังว่าวิกฤตชิปจะสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดี เพราะช่วงนี้ก็เริ่มมีข่าวแว่วๆ ออกมาแล้วว่า ผู้บริโภคอาจจะต้องควักกระเป๋าเสียเงินเพิ่มเนื่องจากราคาสมาร์ทโฟน ทีวี ไปจนถึงรถยนต์คันใหม่น่าจะปรับขึ้นตามราคาชิปถ้าหากผู้ผลิตทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในเร็ววันนี้