記事

EEC VISION 2570

23/11/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดความสำเร็จของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต โดยมุ่งเน้นการยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้ก้าวสู่การเป็น World-class Economic Zone ซึ่ง นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก

จากผลการดำเนินงานของโครงการ EEC ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนที่ประสบผลสำเร็จ โดยสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนรวมสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานรวม 6.5 แสนล้านบาท อันประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยปัจจุบันทั้ง 4 โครงการกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 ทั้งนี้ นอกเหนือจากความสำเร็จของโครงการขนาดใหญ่แล้ว การพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ ทักษะบุคลากร ฯลฯ ตามแผนบูรณาการ EEC เพื่อการพัฒนาและยกระดับชีวิตชุมชนเองก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน โดยปัจจุบันได้รับอนุมัติเงินลงทุนแล้วจำนวนกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท

จากการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่ EEC ในทุกมิติ ประกอบกับการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันนั้น ส่งผลทำให้สามารถดึงนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ได้จำนวนมาก อาทิเช่น  EVLOMO, GWM ฯลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างปี 2561 จนถึงไตรมาสที่สองของปี 2565 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 70% และอุตสาหกรรมอื่นๆ 30% ซึ่งมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของโครงการ EEC ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้เป็นอย่างดี

สำหรับภารกิจสำคัญของ EEC ต่อจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะที่ 2 ภายใต้ EEC Vision 2570 โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนเป็นจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทสำหรับปี 2566-2570 โดยจะเป็นการลงทุนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหลัก (2) การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และสุขภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว  และ (3) การยกระดับชุมชนและประชาชนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยี 5G เป็นต้น โดยถ้าหากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้พื้นที่ EEC มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 7-9% อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวที่ประมาณ 5% พร้อมทั้งส่งผลให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572 อีกด้วย

จากผลสำเร็จในช่วงระยะเริ่มต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่า การร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ EEC สามารถก้าวสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ แต่ความท้าทายในการพัฒนาต่อยอดความสำเร็จเพื่อก้าวสู่การเป็น World-class Economic Zone อย่างสมบูรณ์แบบก็ยังเป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกันผลักดันต่อไปนั่นเอง