บทความ
EEC & REGULATIONS
15/08/2561ขั้นตอน และกฎระเบียบอาจเป็นความยุ่งยากที่ทำให้ผู้ลงทุนต้องเสียทรัพยากรทั้งเงิน เวลา หรือแม้กระทั่งเสียโอกาสจนกลายเป็น Pain point ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องพิจารณาวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกจากการพัฒนา Hard Infrastructure ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในโครงการต่างๆ อยู่แล้ว ภาครัฐเองต้องเตรียมความพร้อมสำหรับ Soft Infrastructure ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปกฎระเบียบและกระบวนการทำงานที่มีความสำคัญในการดึงดูดให้บริษัทต่างๆ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2561 (Doing Business 2018) ของธนาคารโลก (World Bank) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศ เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้าโดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรวมเพิ่มขึ้น 20 อันดับ และตัวชี้วัดที่มีอันดับเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ การเริ่มต้นธุรกิจ และการชำระภาษีที่ผลการจัดอันดับดีขึ้นถึง 42 อันดับทั้งคู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของหน่วยงานภาครัฐในการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน และการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยจึงเป็นสัญญาณอันดีของการปรับเปลี่ยนกลไกภาครัฐเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0
หนึ่งในเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา EEC คือ ความพยายามที่จะปฏิรูปกฎระเบียบและบริการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ อาทิ การกำหนด PPP Fast Track สำหรับโครงการที่มีความสำคัญ การให้สิทธิประโยชน์ Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษสำหรับบุคลากรทักษะสูง และนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่อนุญาตให้ผู้ถือสามารถอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุดถึง 4 ปี หรือการขยายเวลาการรายงานตัวจากทุกๆ 90 วันเป็น 1 ปี เป็นต้น รวมถึงการช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service: OSS) ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่ให้อำนาจสำนักงาน EEC อนุมัติหรือออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การจดทะเบียนพาณิชย์ และการจัดสรรที่ดิน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกปัญหาด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการให้บริการของหน่วยงานรัฐที่ยังขาดความเป็นเอกภาพดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญจึงเป็นการปรับแนวคิดของบุคลากรภาครัฐที่จะต้องออกจากกฎเกณฑ์หรือความเคยชินเดิมๆ ซึ่งการออกกฎหมายใหม่หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่เปลี่ยนทัศนคติ และกระบวนการทำงานไม่ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่แท้จริง ภาครัฐจำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่และปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานให้กลายเป็น “ราชการไทย 4.0” ที่มีสมดุลระหว่างบทบาทหน้าที่ผู้บังคับกฎ (Regulator) และผู้สนับสนุนหรือผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) มีความเป็นกลาง โปร่งใสและตรงไปตรงมาโดยการวางกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสม และยกเลิกการควบคุมที่ไม่เกิดประโยชน์เป็นภาระหรืออุปสรรคต่อประชาชนหรือการประกอบธุรกิจ (Smart Regulation) ตลอดจนต้องยกระดับความสัมพันธ์การทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมให้กลายเป็นการร่วมมือกันอย่างแท้จริงโดยกำหนดวิธีการแบ่งสรรทรัพยากร และร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงและผลสำเร็จที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน
การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติถือเป็นเม็ดเงินสำคัญที่ไหลเข้าประเทศซึ่งก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงานและการถ่ายทอดความรู้ให้กับอุตสาหกรรมไทย การเปลี่ยน Pain point ให้เป็น Gain point จะช่วยทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นตัวเลือกด้านการลงทุนอันดับต้นๆ ของนักลงทุนจากทั่วโลกอีกครั้งอย่างแน่นอน