บทความ
LOGISTICS 4.0
27/11/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บนศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนานซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Exponential Technology ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและส่งผลให้อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ต้องปรับเปลี่ยนกลายเป็นโลจิสติกส์ 4.0 ด้วยเช่นกัน
จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปดูงานรวมถึงได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำต่างๆ ผู้เขียนพบว่า ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับโลกต่างปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมด "Smart Logistics" และ "Data Platform" อาทิเช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงระบบสารสนเทศ มาใช้ในการบริหารจัดการคลังสินค้าตามแนวคิด คลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ Smart Warehouse กันอย่างแพร่หลาย
นอกจากนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด E-Commerce ยังผลักดันให้อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วโลกเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งด้านราคา ความเร็ว และคุณภาพของการบริการ ผู้ประกอบการจึงต่างมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีที่สุดบนต้นทุนที่ประหยัดสุดโดยการนำ Big Data และ Machine Learning เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน ตลอดจนการใช้อุปกรณ์และยานพาหนะยุคใหม่ เช่น ระบบ GPS ติดตาม หรือ Drone และ Autonomous Vehicle ที่เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับการขนส่งระยะสุดท้าย (Last Mile) ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยี 5G ก็จะยิ่งผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ IoT และการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ติดตามหรือการติดต่อสื่อสารระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง และด้วยคุณสมบัติความหน่วง (Latency) ที่ต่ำของเทคโนโลยี 5G ก็จะยิ่งช่วยลดข้อผิดพลาด เพิ่มความปลอดภัย ตลอดจนสามารถระบุตำแหน่งยานพาหนะ สถานะการรับ-ส่งสินค้าที่ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การส่งออก และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาด E-Commerce ของภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นทั้งโอกาสอันดีสำหรับการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการชาวไทยและในขณะเดียวกันก็กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายใหญ่ต่างเริ่มเข้ามาแข่งขันในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะอุตสาหกรรมของธุรกิจโลจิสติกส์ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการกลุ่มต่างๆ จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ประกอบการชาวไทยก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวและค้นหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เช่นกัน
โครงการ EEC จึงมีส่วนสนับสนุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ทันสมัย เช่น โครงการ Data Center/ ระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ ศูนย์ทดสอบ 5G ด้านกฎระเบียบและพิธีการศุลกากรที่ทันสมัยคล่องตัว ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ฯลฯ รวมถึงทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ Smart Logistics และเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการชาวไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจทั้งด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์เครื่องมือ ทรัพยากรบุคคลและสามารถเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการและฐานข้อมูลเข้ากับระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยของผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างๆ ได้
สิ่งที่เหล่านี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่เราสามารถรับมือกับมันได้ การเข้าใจและปรับตัวเข้ากับสภาพการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปควบคู่กับการพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าอยู่เสมอจึงเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในยุคที่ Disruption และ Transformation เกิดขึ้นทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว