บทความ
CLIMATE CHANGE
08/09/2564คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปฎิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจึงทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลก
จากรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1850-1900 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยพบมาก่อนตลอดช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะมีการร่วมมือในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงมองว่ารายงานฉบับนี้เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยระดับสีแดงต่อมนุษยชาติเลยทีเดียว
สำหรับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวนั้นอาจนำมาซึ่งพิบัติภัยทางธรรมชาติจำนวนมากที่ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่มากก็น้อยและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงอีกด้วย การแก้ไขวิกฤตการณ์นี้จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในช่วงกลางศตวรรษเพื่อบรรเทาความรุนแรงจาก Climate Risks ที่ต้องเผชิญในอนาคต ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยเริ่มจากการปรับนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวของภาครัฐผ่านการออกกฎหมาย การยกระดับมาตรฐาน การส่งเสริมนวัตกรรมและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการสนับสนุนทางภาษีต่างๆ นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้คือการร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคเอกชน ตลอดจนการปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างก็ตื่นตัวในการผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission อย่างต่อเนื่อง โดยมีประเทศภูฏานและซูรินาเมที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว สำหรับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ก็ได้กำหนดเป้าหมายอย่างจริงจัง อาทิ การตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันตั้งแต่ปี 2040 ของอังกฤษ หรือ การปรับโครงสร้างด้านพลังงานและเร่งผลักดันการใช้พลังงานสะอาดของเยอรมนี หรือ การลงนามกลับเข้าสู่ความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ขณะเดียวกันประเทศจีนก็ได้กำหนดให้เศรษฐกิจสีเขียวเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีฉบับที่ 14 เช่นกัน
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลก็มีการกำหนดนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2065-2070 โดยโครงการ EEC เองก็ได้มีขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เพื่อให้ EEC เป็นพื้นที่ Net Zero Emission โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 10 (เทียบฐานปี 2021) หรือประมาณ 68 ล้านตัน ภายในปี 2026 ซึ่ง WHA ในฐานะผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ก็ได้มุ่งพัฒนาโครงการพลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี หรือ โครงการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ถึงแม้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นที่เราต่างคุ้นเคยกันมาตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนั้นทำให้เราไม่อาจเมินเฉยได้อีกต่อไป ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแก้ไขปัญหาระดับโลกนี้ไปด้วยกัน