บทความ
FOSTERING ENERGY TRANSITION
18/12/2566คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศรวมถึงทุกภาคธุรกิจต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นต่อทั้งการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจในด้านความเสี่ยงของการหยุดชะงักและการขาดแคลนทรัพยากรที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาพรวมของเศรษฐกิจโลก
โดยภาคพลังงานถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกิจกรรมในภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันพลังงานถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจึงเกิดเป็นแนวคิดของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่เป็นการเปลี่ยนจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมาสู่พลังงานรูปแบบใหม่หรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) จากแหล่งพลังงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม เป็นต้น
ถึงแม้ว่าตลอดช่วงเวลาของความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลกจะต้องเจอกับอุปสรรคมากมายทั้งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน แต่ทั่วโลกก็ยังต่างให้ความสนใจพร้อมทั้งให้การสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานดัชนี Energy Transition Index (ETI) ปี 2023 ของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันคะแนนเฉลี่ยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นถึง 10% โดยสวีเดน (78.5 คะแนน) เดนมาร์ก (76.1 คะแนน) และนอร์เวย์ (73.7 คะแนน) ยังคงเป็นประเทศผู้นำที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกซึ่งประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ยังคงมาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจากฝั่งยุโรปเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ก็ยังได้เห็นพลังการขับเคลื่อนจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) อย่างจีน อินเดีย และอินโดนีเซียที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราค่าเฉลี่ยอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 54 จาก 120 ประเทศทั่วโลก หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 4 โดยมีคะแนนทั้งสิ้น 55.9 คะแนน ซึ่งมาจากด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (System Performance – 60%) 62.3 คะแนน และความพร้อมในการปรับโครงสร้างพลังงานในอนาคต (Transition Readiness – 40%) 46.2 คะแนน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการด้านกฎระเบียบและเจตนาร่วมทางการเมือง (Regulation & Political Commitment) ได้ค่อนข้างดีโดยมีคะแนนอยู่ที่ 65.3 คะแนน ในขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และด้านนวัตกรรม (Innovation) ถือเป็นตัวชี้วัดที่ไทยได้คะแนนน้อยที่สุดโดยมีคะแนนอยู่ที่ 38.1 และ 31.7 ตามลำดับ
แม้ว่านโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการเร่งกระบวนการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่การส่งเสริมการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานก็ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเช่นกัน โดยดัชนีข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าเรายังสามารถปรับปรุงเรื่องการสนับสนุนด้านงานวิจัยและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจด้านนวัตกรรมอย่างเต็มศักยภาพเพื่อตอบรับกับแผนพลังงานแห่งชาติที่ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานทั้งหมด เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 นั่นเอง