ข่าวสารบริษัท

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 เหมราชฯ มองเห็นโอกาสการพัฒนาในอนาคต

29/04/2558
กรุงเทพฯ/29 เมษายน 2558– บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (“เหมราช”) ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้น หลังจากที่บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของเหมราชคิดเป็นร้อยละ 92.88

นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เหมราชฯ และมร. เดวิด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเหมราชฯ ชี้ให้เห็นถึงการผนึกกำลังร่วมกันของทั้งสองบริษัท เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และสินทรัพย์ด้านอุตสาหกรรม

นายแพทย์สมยศ อธิบายว่า “ด้วยพื้นที่เกือบ 1.2 ล้านตารางเมตร WHA เป็นผู้นำด้านการพัฒนาและให้เช่าโรงงาน คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ามาตรฐานระดับโลกที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) รวมถึงการจัดการ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ในขณะที่บริษัท เหมราชฯ เป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และมีธุรกิจสาธารณูปโภคแบบครบวงจร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมหรือเติมเต็มผลิตภัณฑ์และบริการด้านอุตสาหกรรมอันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าของเราทั้งสองบริษัทยิ่งขึ้น เป้าหมายของเราคือการเติบโตเป็นผู้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ครบวงจรเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในประเทศไทย”

ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดใหม่กับทีมผู้บริหารเดิมของบริษัท เหมราชฯ มร. เดวิด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้กล่าวย้ำถึงกิจกรรม และการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องว่า “การผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัทจะทำให้เราได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ครอบครองสัดส่วนการตลาดมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งโรงงานแบบ Built-to-Suit และศูนย์กระจายสินค้าที่ตั้งกระจายอยู่หลายแห่งให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของเรา”

นิคมอุตสาหกรรม: ผู้นำด้านสัดส่วนการตลาดตั้งแต่ปี 2551

ปัจจุบันเหมราชฯ มีนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 45,016 ไร่ (18,006 เอเคอร์ หรือ 7,203 เฮกตาร์) และเป็นผู้นำด้านนิคมอุตสาหกรรมที่ครองสัดส่วนการตลาดสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2551 บริษัทฯ ให้บริการที่ดิน

อุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าชั้นนำกว่า 653 บริษัท ภายใต้สัญญาซื้อขายทั้งสิ้น 984 สัญญา เป็นลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวน 227 ราย จากสัญญาซื้อขาย 346 สัญญา และลูกค้าในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี จำนวน 61 ราย รวมมูลค่าการลงทุนของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักมากมาย อาทิ ยานยนต์ ปิโตรเคมี เหล็กและโลหะ พลังงาน และอิเล็กทรอนิกส์

ในปี 2558 บริษัทฯ ตั้งเป้าการขายที่ดินอุตสาหกรรมไว้ที่ 1,400 ไร่ (560 เอเคอร์ หรือ 224 เฮกตาร์) สูงกว่าปี 2557 ซึ่งขายที่ดินได้รวม 665 ไร่ (266 เอเคอร์ หรือ 106 เฮกตาร์) โดยไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทขายที่ดินได้มากถึง 186 ไร่ (74 เอเคอร์ หรือ 30 เฮกตาร์) เป็นลูกค้าใหม่จำนวน 7 ราย ภายใต้สัญญาใหม่จำนวน 9 สัญญา และเป็นการขยายโครงการของลูกค้าเดิมจำนวน 2 สัญญา ผู้บริหารของเหมราชฯ คาดว่าไตรมาสสองจะมียอดขายที่แข็งแกร่งเช่นกัน และยังมองเห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในเดือนต่อๆ ไปอีกด้วย

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ตัวเลขของอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงในระยะสั้น อย่างไรก็ตามยังคงมีการลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่หรือเทคโนโลยีอันทันสมัยมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนหลักของเหมราชฯ ในปี 2558 และปีต่อๆไป ยังคงเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟส 6 เนื้อที่ 575 ไร่ (230 เอเคอร์ หรือ 92 เฮกตาร์) และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี 2 เนื้อที่ 632 ไร่ (253 เอเคอร์ หรือ 101 เฮกตาร์) และการเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 เนื้อที่ 3,765 ไร่ (1,506 ไร่ หรือ 602 เฮกตาร์)

รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีสัดส่วนร้อยละ 42 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในระหว่างปี 2557 – 2561 “ประสบการณ์อันแข็งแกร่งของเหมราชฯ ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขยายฐานลูกค้าของเราให้เติบโตมากขึ้นและการเจาะเข้าสู่ตลาดใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน”นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร กล่าว

ธุรกิจโรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าให้เช่ามีอนาคตสดใส

อีกหนึ่งตัวอย่างของการผนึกกำลังร่วมกันกับ WHA คือเหมราชฯมีธุรจที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของคลังสินค้าโลจิสติกส์พาร์ค และโรงงานสำเร็จรูป (RBF) ซึ่งมีพื้นที่รวมมากถึง 860,000 ตารางเมตร

โดยโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าของเหมราชฯ มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 450 ตารางเมตร ถึง 10,000 ตารางเมตร จำนวน 241 ยูนิต พื้นที่รวม 688,296 ตารางเมตร ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของเหมราชฯ ส่วนโรงงานสำเร็จรูปอีก 104 ยูนิต หรือขนาดพื้นที่ 150,117 ตารางเมตร อยู่ภายใต้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเหมราช อินดัสเตรียล (HPF)

สำหรับคลังสินค้าโลจิสติกส์ให้เช่าของเหมราชฯ ทั้ง 4 แห่งของเหมราช มีขนาดตั้งแต่ 1,545 –13,000 ตารางเมตร พื้นที่รวมทั้งสิ้น 180,000 ตารางเมตร

ในปี 2558 มีการคาดการณ์ว่าความต้องการโรงงานสำเร็จรูปจะเติบโตราวร้อยละ 23 หรือราว 70,000 ตารางเมตร และคลังสินค้าให้เช่า หรือโลจิสติกส์พาร์คจะเติบโตร้อยละ 48 หรือ 40,000 ตารางเมตร

รายได้ต่อเนื่อง รวมถึงกำไรจากสาธารณูปโภคและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ความต้องการน้ำดิบ น้ำประปา น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม จนถึงระบบจัดการน้ำเสีย สำหรับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงงานเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และอื่นๆ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าธุรกิจสาธารณูปโภคของเหมราชฯ จะเติบโตขึ้นราวร้อยละ 8 ต่อปีภายในช่วง 7 ปีข้างหน้า จะมีรายได้ต่อเนื่องได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท ในปี 2558 และกว่า 3,000 ล้านบาทในปี 2565

การเติบโตของเหมราชฯ ยังมาจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า 5 โครงการที่มีอยู่ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 1,652 เมกะวัตต์ และสร้างสัดส่วนรายได้ให้แก่บริษัทราวร้อยละ 14 ในรูปของกำไรเงินปันผล และโครงการเก็คโค่-วัน มูลค่า 42,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทเหมราชฯ (ร้อยละ 35) และบริษัทโกลว์ (ร้อยละ 65) ถือเป็นแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทฯ ด้วยรายได้เฉลี่ยราว 1,225 ล้านบาทในปี 2558 และ 2559

นอกจากนี้ เหมราชฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีก 7 โครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25.01 ในแต่ละโครงการซึ่งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในระหว่างปี 2560 - 2562 และมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 882 เมกะวัตต์

สถานะการเงินที่แข็งแกร่งของเหมราชฯ

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปี 2557 จะชะลอตัวและมีปัจจัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรม สถานะทางการเงินของบริษัทเหมราชฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2557 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 6,333.1 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,960.6 ล้านบาท รวมถึงรายได้ต่อเนื่องที่มาจากธุรกิจสาธารณูปโภคและการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า เช่น เก็คโค่-วัน และค่าเช่าทรัพยสินทางอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ปัจจุบันมี

สัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของรายได้จากการดำเนินการของบริษัทฯ รายได้ที่สมดุลและคาดการณ์ได้นี้ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโตมากขึ้นและกำไรสูงขึ้นและเพื่อให้งบดุลของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น คณะกรรมการของบริษัทเหมราชฯ มีแผนที่จะขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท อาทิ อาคารยูเอ็มทาวเวอร์ อาคารสำนักงานสูง 31 ชั้น บนถนนรามคำแหง ที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาบนเกาะล้าน พัทยา จำนวน 253 ไร่ รวมถึงการนำโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของเหมราชฯ ในปี 2558

“การขายสินทรัพย์เหล่านี้จะช่วยให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมด (ROA) ดีขึ้น” นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ของเหมราชฯ กล่าว