บทความ

Artificial Intelligence

30/01/2562

ปัจจุบัน Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมาก แม้ว่าทั้ง AI และ Machine Learning นั้นจะเป็นแนวคิดที่มีมานานโดยเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนามาหลายสิบปีแต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาสวนทางกับต้นทุนทำให้หน่วยความจำและพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคาลดต่ำลงเรื่อยๆ จึงเป็นตัวเร่งการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี AI ให้สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ซับซ้อนรวมไปถึงตัดสินใจได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

AI ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนถึงการเติบโตของเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ deep tech ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย ทั้ง Tech Giant และ Tech Startup ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับการพัฒนา AI เป็นอย่างมาก สำหรับสหรัฐอเมริกา บริษัท IT ชั้นนำ ได้แก่ Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google (FAANG) ต่างก็นำ AI มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของตน เช่น Amazon นำ Alexa ซึ่งเป็น AI ควบคุมด้วยเสียงมาพัฒนาร่วมกับ Internet of Things เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับคำสั่งควบคุมให้กับอุปกรณ์การดำรงชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น ลำโพง โทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้กับ Amazon อย่างมาก หรือ Alphabet ที่เป็นผู้พัฒนา Alpha Go และบริษัทด้าน AI อื่นๆ ในเครือของ Google เช่น Chronicle ที่นำ AI เข้ามาใช้ในการให้บริการ Cyber Securfity สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ในกลุ่ม Fortune 500 เป็นต้น

ส่วนฝั่งเอเชีย มหาอำนาจด้าน AI อย่างจีนเองก็มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างจริงจังโดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติยุคใหม่รวมถึงบรรจุหลักสูตร AI เป็นวิชาหนึ่งในระดับมัธยมศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรตั้งแต่เยาวชน ซึ่งแผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีนนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั้ง Tech Giant ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent (BAT) และ AI Startup ต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,500 บริษัทจึงทำให้อุตสาหกรรม AI ของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

จากการสำรวจข้อมูลโดย IDC บริษัทวิจัยด้าน IT ชั้นนำของโลกพบว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีการนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2561 เปรียบเทียบกับ 8% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังตามหลังภาพรวมของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือที่มีการนำ AI มาใช้กับทั้งบริการสาธารณะของภาครัฐและการนำ AI เข้ามาเพิ่มความเป็นอัตโนมัติของกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตและการจัดการในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งโครงการ EEC ก็จะมีส่วนช่วยดึงดูดบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ Startup ต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศอันจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะทรัพยากรบุคคลอันจะช่วยเพิ่มจำนวนของผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในภาคธุรกิจให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แสดงทรรศนะไว้ว่า AI นั้นมีอำนาจเปลี่ยนโลกพร้อมๆ กับที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ในอนาคตเทคโนโลยี AI และ Machine Learning จะเข้ามามีบทบาทและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นโดยจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบนิเวศและแพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ และอาจเป็นกุญแจสำคัญของการเกิดกระแส disruption ที่จะกระทบต่อไปเป็นวงกว้างไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย