บทความ

5G

20/02/2562

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบัน 5G หรือ ระบบการสื่อสารแบบไร้สายในยุคที่ 5 เป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก สมาคม GSMA ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกได้ระบุมาตรฐานความเร็วของ 5G ไว้ที่ระหว่าง 1-10 Gbps ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอินเตอร์เน็ตบ้านทั่วไปที่มีความเร็วเฉลี่ยเพียง 10 - 100 Mbps ระบบ 5G จึงมีความเร็วและความเสถียรที่สูงกว่ามาก

เนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างแพร่หลาย เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ การใช้โดรนหรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อช่วยในการบริหารด้านการเกษตร ยานยนต์ไร้คนขับ รวมไปถึงเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์ที่ช่วยให้การรักษาได้ผลแม่นยำซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่จัดเก็บรวบรวมก็จะถูกนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์โดย AI และ Big Data ต่อไป เทคโนโลยี 5G จึงถูกพัฒนาเพื่อให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในปัจจุบัน และช่วยต่อยอดให้สามารถประยุกต์ใช้งานสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างทั่วถึง

ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคทั้งด้านความเร็วและความเสถียร การพัฒนาเทคโนโลยี 5G จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและติดต่อสื่อสารของเครื่องจักรและอุปกรณ์อัจฉริยะตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม 4.0 ความสำคัญของ 5G จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ตลาดผู้บริโภค หรือ Consumer Market เหมือนกับระบบ 3G และ 4G แต่จะเป็นตลาดของภาคอุตสาหกรรมหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการยกระดับวิธีการดำเนินงานและกระบวนการผลิตของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือ การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี 5G ที่มีความเสถียรเข้ามาเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ IoT หุ่นยนต์ และระบบอัติโนมัติต่างๆ ภายในโรงงานผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งการและควบคุมการปฏิบัติงานได้ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกพื้นที่โรงงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบ 5G จำเป็นจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจากระบบ 4G เดิมทำให้การลงทุนพัฒนาระบบ 5G ต้องเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหรือเมืองขนาดใหญ่เป็นลำดับแรกก่อนจึงจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนา เนื่องจากโครงการ EEC เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็น World-Class Economic Zone เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจึงมีความเหมาะสมสำหรับการทดสอบการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งในด้านการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (Enhanced Mobile Broadband) การบริการที่ห้ามผิดพลาด (Mission – Critical Services) และการสื่อสารกับอุปกรณ์จำนวนมาก (Massive Machine Type Communications) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงได้กำหนดให้มีแผนการสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่องของโครงการ EEC ตามแนวคิดการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Sharing) รวมถึงเปิดรับผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศให้มาเข้าร่วมโครงการทดสอบภาคสนามอันจะนำไปสู่การเปิดใช้งานระบบ 5G เชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

พื้นที่โครงการ EEC จึงเป็นก้าวสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ที่เริ่มมีการทดลองใช้ 5G อย่างแพร่หลายและคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2020 หรืออีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย