บทความ
DIGITAL WORKFORCE
28/08/2562
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะด้านแรงงานซึ่งหนึ่งในความท้าทายของประเทศไทยคือ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและตอบสนองต่อการพัฒนาของโครงการ EEC
จากการเปิดเผยรายงานการศึกษาร่วมระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลปริมาณมากแต่มีจำนวนแรงงานที่มีคุณภาพและสามารถปฏิบัติงานได้ไม่เพียงพอโดยผลการสำรวจของ TDRI ระบุว่าในปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์กว่า 20,000 คนแต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้กลับมีผู้ว่างงานสูงถึงเกือบ 7,000 คนเลยทีเดียว
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงแรงงานที่เปิดเผยว่า แม้หลายภาคส่วนจะผลักดันให้เด็กไทยเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) แต่ผลสำรวจบัณฑิตในสาขา STEM จำนวน 8,557 คน จาก 29 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเมื่อปี 2561 พบว่าอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของผู้จบใหม่อยู่ที่ระดับไม่เกิน 20,000 บาท อีกทั้งยังมีจำนวนบัณฑิตว่างงานมากถึงร้อยละ 33.5 การแก้ปัญหาแบบในอดีตโดยการมองว่าแรงงานขาดแคลนและเร่งผลิตจนมีแต่ผู้ที่มีทักษะต่ำหรือไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจึงไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทั้งยังเพิ่มปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริงในระยะยาว
การเข้าสู่ยุคดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 ได้เร่งให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้คนทำงานในอนาคตจำเป็นต้องมีทักษะชุดใหม่ด้วยเช่นกัน โดยจากรายงาน “The Future of Jobs Report 2018” ของ WEF ที่ทำการสำรวจผู้ประกอบการจากทั่วโลกถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานพบว่าภายในปี 2565 ร้อยละ 54 ของแรงงานทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาทักษะทั้งการ Reskill และ Upskill อย่างเร่งด่วน สำหรับประเทศไทยนั้นรายงานระบุว่าผู้ประกอบการให้ความเห็นสอดคล้องกับภาพรวมทั่วโลกโดยระบุว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยต้องได้รับการพัฒนาทักษะทั้งด้าน “Technical Skill” โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงนวัตกรรม ความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม รวมถึง “Human Skill” ที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติเชิงบวก การสื่อสาร รวมถึงคุณธรรมและจริยธรรม
ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) คณะทำงาน EEC Human Development Center (EEC-HDC) ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจึงกำหนดให้มีโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านดิจิทัลโดยมุ่งที่จะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและแรงงานขั้นสูงเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ภายในเขตพื้นที่ EEC อาทิเช่น การกำหนดหลักสูตรเพื่อมุ่งยกระดับความรู้ความสามารถและทักษะของแรงงานที่เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม New S-curve อันได้แก่ เทคโนโลยีด้าน AI, IoTs, Big Data รวมถึงหลักสูตร Data Science ที่จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น รวมถึงโครงการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะแรงงาน (Reskill) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและช่วยบรรเทาปัญหาของการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม Digital Workforce ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังทั้งด้านศาสตร์ อาทิเช่น การศึกษาในสาขา STEM ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานควบคู่ไปกับด้านศิลป์ที่เป็นทักษะความรอบรู้ของยุคปัจจุบัน หรือ 21st Century Skills ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำงานสร้างสรรค์จนเกิดเป็น Creative Workforce และพัฒนากลายเป็น Innovative Workforce ได้ในที่สุดนั่นเอง