บทความ
AGEING SOCIETY
11/09/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจโดยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหลายประเทศเกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนผ่านจาก Ageing Society หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรไปเป็น Aged Society ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรปตามมาด้วยหลายประเทศในเอเชีย อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น
จากการศึกษาข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ผู้เขียนพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมดซึ่งหากอ้างอิงจากคำกัดความของ UN ก็สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ Ageing Society แล้วนั่นเอง รวมถึงยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่คาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะก้าวเข้าสู่ Aged Society ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่ามาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และอีก 10 ปีต่อจากนั้นหรือภายในปี 2574 ก็จะก้าวเข้าสู่ Super-aged Society หรือสังคมที่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว
การเป็นสังคมอายุยืนย่อมนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุส่งผลให้เกิดพื้นที่ว่างทางการตลาดอีกมากมาย และนับเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าจับตามองโดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่ Aged Society ก่อนประเทศอื่นซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถช่วงชิงโอกาสการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การบริการดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์พยาบาล ธุรกิจอาหารสุขภาพ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งการปรับกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว
โครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์พัทยาจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสุขภาพพลานามัยผู้สูงอายุ (Senior Complex) ซึ่งเป็นการต่อยอดขีดความสามารถการให้บริการอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรไปพร้อมกับการยกระดับบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของไทยทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือและบริการทางการแพทย์ต่างๆ อาทิเช่น คลินิกเฉพาะทางผู้สูงอายุ คลินิกสูงวัย คลินิกทันตกรรมสูงวัย คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย ตลอดจนสถานที่พักอาศัยและการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่สามารถจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์พยาบาล อุปกรณ์ IoT ฯลฯ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
ซึ่งโครงการ EECmd ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความตื่นตัวเพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือกับการเป็น Ageing และ Aged Society ของไทยที่นอกเหนือไปจากการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านสาธารณสุขแล้วยังรวมไปถึงการขยายขอบเขตนโยบายให้ครอบคลุมมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การขยายอายุการเกษียณและการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะ (Up-skilling) และเสริมทักษะใหม่ (Re-skilling) เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับผลิตภาพของแรงงานสูงอายุไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงประชากรครั้งใหญ่ของโลกจึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ชาวไทยที่จะพัฒนาสินค้าและบริการรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกโดยการต่อยอดองค์ความรู้จากอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งและพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมและบริการใหม่ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตต่อไปนั่นเอง