บทความ
INTRAPRENEURSHIP
16/10/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อเทรนด์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการ Transform องค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและ Disruption ต่างๆ มาบรรจบเข้ากับกระแสความนิยมธุรกิจ Startup หรือ Entrepreneurship ของคนยุคใหม่ทำให้ปัจจุบันเราจึงได้เห็นโครงการใหม่ๆ ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการภายในหรือ Intrapreneurship ควบคู่ไปกับการค้นหาและลงทุนในธุรกิจ Startup จากภายนอก
หนึ่งในประโยชน์ที่ชัดเจนของการพัฒนาผู้ประกอบการภายใน คือ ช่วยส่งเสริม Innovative Culture สำหรับการพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดให้บุคลากรที่มีความสามารถและความพร้อมที่จะเสนอแนวคิดทางธุรกิจและทุ่มเทผลักดันจนเป็นผลสำเร็จให้ทำงานและเติบโตไปด้วยกันกับองค์กร ในทางกลับกันบริษัทขนาดใหญ่เองก็สามารถให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นจึงเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้สินค้าและบริการใหม่ๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จจนสามารถขยายธุรกิจหรือ Scale Up ได้อย่างรวดเร็ว
การส่งเสริม Intrapreneurship หรือการสร้าง Corporate Entrepreneur จึงเป็นกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ Win – Win Strategy สำหรับทั้งพนักงานและองค์กรที่ต่างก็สามารถพัฒนาไปด้วยกัน ตัวอย่างเช่น Gmail ก็เป็นผลผลิตจากโครงการ 20% Time ของ Google ที่เปิดโอกาสให้พนักงานใช้เวลา 1 ใน 5 ของเวลาทำงานทั้งหมดเพื่อทำงานในโปรเจคที่สนใจ หรือ ปุ่ม Like ของ Facebook เองก็มาจากงาน Hackathons ที่เป็นการประกวดแข่งขันเพื่อระดมความคิด ไอเดียและความร่วมมือของพนักงานในบริษัท หรือเครื่อง Playstation ก็เป็นไอเดียของคุณ Ken Kutaragi ทีมวิศวกรของ Sony ที่พยายามปรับปรุงเครื่องเกมของลูกสาวจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์และธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับ Sony เป็นอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ จึงจัดให้มีทีมงานหรือหน่วยงานเฉพาะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาไอเดียที่เกิดจากพนักงานภายในองค์กร อาทิเช่น ทีม ExpresSo ที่มีเป้าหมายการค้นหาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกลุ่ม ปตท. หรือ SCB10X ซึ่งเป็นแผนกตั้งใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์เช่นเดียวกับ KBTG ของธนาคารกสิกรไทยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสำหรับธนาคารแห่งอนาคต หรือ NEXT หน่วยงานกลางของ AIS ที่จัดทำโครงการเพื่อจุดกระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ หรือโครงการ ZERO TO ONE by SCG ของเครือปูนซีเมนต์ไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนา Startup จากภายในองค์กร รวมถึง WHA Group เองก็มีการตั้งกลุ่ม WHA Innovation Leader ควบคู่ไปกับการทำ Digital Transformation ขององค์กรด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากโครงการลักษณะนี้ได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างก็จะเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยรวมของประเทศตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 เนื่องจากเป็นการบ่มเพาะทักษะความเป็นผู้ประกอบการโดยภาคเอกชนที่เป็นผู้มีบทบาทและศักยภาพเป็นอย่างมากที่จะช่วยผลักดันจนเกิดเป็นอีกหนึ่ง Ecosystem ของการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่นอกเหนือไปจาก Ecosystem ของ Entrepreneurship ดังเช่นธุรกิจ Startup และ SME ที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนรวมถึงโครงการ EEC เองต่างก็มุ่งส่งเสริมอยู่แล้ว
เหมือนที่ผู้เขียนพูดเสมอเมื่อมีโอกาสว่า ทักษะการเป็นผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่หลักสูตรการศึกษาและการพัฒนาแรงงานของประเทศเราอาจยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควรแต่ที่จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร ตลอดจนเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมระดับประเทศในระยะยาว ดังนั้นตอนนี้จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการอย่างจริงๆ จังๆ เสียที