บทความ

DRONES

08/01/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หนึ่งใน Exponential Technology ที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก คือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) หรืออากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจเป็นอย่างมากแตกต่างจากในอดีตที่โดรนถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหารเป็นหลัก เช่น การเข้าไปทำภารกิจต่าง ๆ ในเขตอันตราย การสอดแนม การตรวจจับ ภารกิจโจมตี ฯลฯ

ตัวอย่าง Use Case สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างคือ การนำโดรนมาประยุกต์ใช้สำหรับการขนส่งระยะสุดท้าย (Last Mile Delivery) โดยผู้ประกอบการ E-Commerce ทั่วโลก อาทิ Amazon, Alibaba, JD.Com, Rakuten หรือ Flipkart ที่ต่างเริ่มทดลองนำโดรนมาใช้สำหรับการขนส่งพัสดุไปตามบ้านเรือนแทนวิธีการขนส่งแบบดั้งเดิม เช่น ทางรถจักรยานยนต์หรือทางรถขนส่งที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของความรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนและแรงงานได้เป็นอย่างดีแล้วยังทำให้ผู้ประกอบการ E-Commerce ระดับโลกเหล่านี้สามารถรักษาความสัมพันธ์และความพึงพอใจของลูกค้าอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการแข่งขันในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้เทคโนโลยีโดรนในปัจจุบันยังคงใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนหรือเป็นระบบไฮบริดที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำมันควบคู่กันจึงทำให้โดรนทั่วไปสามารถบินอยู่ในอากาศได้นานเพียงแค่ 30 นาทีถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวใหญ่ที่ปฏิวัติวงการโดรนโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนสามารถพัฒนา Drone FY-36 ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เมทานอลได้เป็นผลสำเร็จจึงทำให้โดรนรุ่นใหม่สามารถบินอยู่ในอากาศได้นาน 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยเองก็ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรกรรมอย่างแพร่หลายซึ่งสามารถช่วยลดการใช้แรงงานรวมถึงช่วยควบคุมปัจจัยการผลิตตามแนวคิดของ “Smart Farmer” และ “การเกษตรแบบแม่นยำ” ที่เน้นประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ต้นทุนทรัพยากรที่น้อยเพื่อผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่มากตามแนวทางของการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่เช่นกัน

ซึ่งโครงการ EEC ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยเร่งให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนโดยภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้าน Hardware และ Software ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ จากในและนอกประเทศ อาทิเช่น ความร่วมมือกับ Depa เพื่อสนับสนุนและอุดหนุนผู้ประกอบการและ Startup ชาวไทยในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อใช้งานแบบครบวงจรในภาคการเกษตรและการขนส่งโลจิสติกส์ หรือ ความร่วมมือระหว่าง EEC กับบริษัท DJI ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนรายใหญ่ของโลกที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น เป็นต้น

นอกจากนั้นพื้นที่บางส่วนของโครงการ EEC เองก็สามารถกำหนดให้เป็นสนามทดสอบหรือพื้นที่นำร่องสำหรับการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ทั้งด้านการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการทำ Regulatory Sandbox เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เช่น กฎหมายอากาศยานที่ไม่มีนักบินให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

ในอนาคตเทคโนโลยีโดรนจะยังคงมีบทบาทสำคัญทางด้านการทหารและความมั่นคงของประเทศแต่หากสามารถส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ อย่างแพร่หลายก็จะเป็นการช่วยติดอาวุธนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการชาวไทยให้มีความพร้อมที่จะแข่งขันในยุคอุตสาหกรรมไร้พรมแดนที่คู่แข่งสามารถบุกเข้ามาโจมตีได้ทุกเมื่อแม้แต่ในตอนที่เราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ