บทความ
THE POST-COVID WORLD
29/04/2563คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวลาที่ผู้เขียนมีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายในงานประชุมหรือการสัมมนา สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำเสมอคือ ความสำคัญของการเข้าใจและมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของ Megatrend ต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่ต่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน รวมถึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดถูกขับเคลื่อนอยู่บนเทคโนโลยีดิจิทัลของยุคศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้กลายเป็น game changer ที่เร่งให้เกิด disruption ครั้งใหญ่ที่แม้แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทุกครั้งในอดีตก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้ ปัจจัยต่างๆ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าและห่วงโซ่การผลิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการดำรงชีวิตส่วนบุคคลล้วนเกิดการพลิกผันไปพร้อมๆ กันในเวลาอันรวดเร็ว
โลกหลัง COVID-19 ย่อมไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้จะติดลบถึงร้อยละ 3, การปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจบริการเพื่อให้สามารถอยู่รอด เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจระหว่างประเทศ ฯลฯ ตลอดจนแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากเมืองจีนเนื่องจาก Supply Chain Disruption ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนหลักจากประเทศจีน รวมถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) และการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย หรือ Face Shield จะกลายเป็นมาตรการที่หลายประเทศแนะนำและบังคับใช้ เป็นต้น
ซึ่งหลายเทรนด์ที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์การระบาดก็มีแนวโน้มจะคงอยู่และกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอัตราเร่งจนกลายเป็นความคุ้นชินและทำให้โลกไซเบอร์เข้ามามีบทบาทต่อการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลใหม่ อาทิ ธุรกิจ e-Commerce, การประชุมออนไลน์และ Food Delivery รวมถึงความแพร่หลายของ Digital Content เช่น Online Streaming และการเรียนการสอนผ่าน E-Learning หรือ Massive Open Online Course (MOOC), การอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทาง Digital Lending หรือการนำระบบอัติโนมัติ เช่น Autonomous Vehicle มาใช้ในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์รวมถึงใช้ในการพ่นยาฆ่าเชื้อตามถนน อาคาร และบ้านเรือนเพื่อลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์ เป็นต้น
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ทางบวกทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ฯลฯ รวมถึง Digital Healthcare ที่เติบโตจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับบริการด้านสาธารณสุข อาทิ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine), การแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ที่นำ AI มาช่วยในการตรวจรักษาและวิเคราะห์ภาพ X-Ray, หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล ฯลฯ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขคุณภาพได้อย่างรวดเร็วและในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งในอนาคตก็สามารถนำมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
การระบาดเป็นวงกว้างของ COVID-19 ครั้งนี้นอกจากจะทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงประโยชน์และเข้าใจในความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้นแล้วยังช่วยให้ภาครัฐและภาคธุรกิจตระหนักถึงความไม่แน่นอน การเตรียมความพร้อม และเรียนรู้ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งในอาทิตย์หน้าเราก็จะมาคุยกันต่อถึงโอกาสที่มาพร้อมกับความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุคหลัง COVID-19 นี้กันค่ะ