บทความ

Demographic Shift

26/10/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร หรือ Demographic Shift นั้นได้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภค วิถีชีวิตของผู้คน ตลาดแรงงาน และความต้องการด้านสาธารณสุขของประชากรโลกได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ Demographic Shift จึงถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจที่จะต้องนำปัจจัยเชิงโครงสร้างประชากรมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจและการวางกลยุทธ์ขององค์กรนั่นเอง

ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติได้เปิดเผยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรที่สำคัญซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การขยายตัวของประชากรวัยแรงงานในภูมิภาคแอฟริกา การอพยพของประชากรโลกไปยังภูมิภาคเอเชีย และ การย้ายเข้ามาอาศัย/ ทำงานในตัวเมือง เป็นต้น อีกทั้ง องค์กรสหประชาชาติยังได้คาดการณ์จำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการเกิดใหม่ของประชากรโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับอายุขัยของผู้คนที่มีแนวโน้มยาวขึ้น ผู้สูงอายุจึงจะเป็นกลุ่มประชากรโลกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดใน 30 ปีข้างหน้า ทำให้ สังคมผู้สูงอายุ (Aging หรือ Aged Society) นับเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่หลายประเทศมิอาจมองข้าม

หากพิจารณาถึงประเทศไทยที่กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2030 ซึ่งภาครัฐก็ได้กำหนดแนวทางและเตรียมความพร้อมเพื่อตั้งรับสถานการณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น โครงการ EEC ที่ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์อันจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น จุดบริการขนส่งที่เอื้อต่อผู้สูงวัย ย่านที่พักอาศัย/ สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย (Age-friendly Cities) ตลอดจนการสร้างสถานบริการทางการแพทย์ ศูนย์ดูแลและสถานพักฟื้นระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร หรือ EECmd บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เป็นต้น

ซึ่งภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความพยายามในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาสินค้า/ การให้บริการให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชาการที่เปลี่ยนแปลงไป ดังสะท้อนจาก SCG กลุ่มบริษัทด้านธุรกิจซีเมนต์/ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลล์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย อาทิ ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ (Automatic Night Light) ระบบพื้นลดแรงกระแทก (Shock Absorption Floor) และระบบพื้นไร้ระดับ (Stepless Floor) เป็นต้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมสูงวัยที่มีความเสื่อมถอยของร่างกาย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน เป็นต้น นอกจากนี้ SCG ยังได้มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือ ผู้ป่วยติดเตียง อีกด้วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอยู่ราว 9 ล้านคนซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรคว้าโอกาสจากการก้าวไปสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน ก็ควรเร่งต่อยอดความได้เปรียบของระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของไทย ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Soft Infrastructure ต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของประชากรผู้สูงอายุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างครบวงจร อันจะเป็นการสร้างรายได้จากการให้บริการที่มีมูลค่าให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาวด้วยนั่นเอง