บทความ

SPACE APPLICATIONS IN AGRICULTURE

30/10/2566

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) หลายท่านคงนึกถึงดาวเทียม จรวด สถานีอวกาศ หรือการสำรวจอวกาศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของห่วงโซ่คุณค่า แต่ความจริง Space Technology นั้นยังครอบคลุมไปจนถึงการนำองค์ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในหลายภาคอุตสาหกรรมดังที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วจึงส่งผลให้มีการนำ Space Technology มาปรับใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน

และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนาของ Space Technology คือ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยจากรายงาน Space Applications in Agriculture ของ World Economic Forum ที่จัดทำร่วมกับบริษัท McKinsey & Company ระบุว่า ภายในปี 2030 Space Technology จะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตรไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ภาพถ่ายดาวเทียมมีความละเอียดคมชัดมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลงถึง 25%-50% ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความท้าทายหลายประการที่ภาคการเกษตรต้องเผชิญในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสูง ผลิตภาพต่ำ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ

โดยการใช้เทคโนโลยีสำรวจข้อมูลระยะไกลจากดาวเทียมผ่านเซ็นเซอร์ (Space-based Remote Sensors) ในการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลจะเข้ามาช่วยให้เกษตรกรสามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น สภาพอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ และนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลกระทบเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการในภาคการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีความแม่นยำในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการประมาณการผลผลิต (Yield Estimation) โดยคาดการณ์ผลผลิตที่จะได้ในแต่ละช่วงเวลาแบบเฉพาะเจาะจงแต่ละพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาตลาดและการวางแผนการขนส่ง

รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Yield Optimization) จากการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตแบบ Real-time และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ ดิน ความชื้น เพื่อควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ย น้ำ และสารเคมีให้เหมาะสม รวมถึงวางแผนการเพาะปลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพอากาศซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ของการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย โดยจากรายงานมีการคาดการณ์ว่า Space Technology จะสามารถเข้ามาช่วยทำให้การใช้น้ำลดลงได้ 5-10% หรือประมาณ 2.8 พันล้านลิตร และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 ล้านตันจากการใช้สารเคมีฆ่าแมลงและปุ๋ยที่น้อยลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 0.8 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว

ปัจจุบันการนำ Space Technology มาพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการการเกษตรเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นกันแต่ก็ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยการจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงจากวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมเพื่อยกระดับสู่การเกษตรรูปแบบใหม่นั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในเรื่องของการสร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการทำเกษตรรูปแบบใหม่อย่างแพร่หลาย อันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนนั่นเอง