บทความ

EEC & SME 4.0

29/08/2561

ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่ “รวยกระจุกจนกระจาย” ดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศจึงมีความสำคัญเร่งด่วน และหนึ่งในภาคส่วนสำคัญในการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายคือ การพัฒนาธุรกิจ SMEs

ปัจจุบัน GDP ของ SMEs ไทยสูงถึงกว่าร้อยละ 40 ของ GDP รวมทั้งประเทศ ธุรกิจ SMEs จึงเป็นกลุ่มพลังขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทุกภาคส่วนต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า SMEs ไทย ขาดการพัฒนาเชิงความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ตลอดจนความรู้ความสามารถด้านการตลาด ระบบการจัดการ เงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และการพัฒนาทักษะบุคลากร ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก

แผนการลงทุนของโครงการ EEC จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ เช่น การบริการเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่แม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs จะต้องใช้เวลาในการปรับตัว เพิ่มพูนทักษะ รวมถึงการสะสมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ EEC และมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ อาทิ มาตรการสนับสนุนการนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการช่วยเหลือด้านการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ จะช่วยให้ SMEs ไทยสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใช้หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในที่สุด นอกจากนั้น ธุรกิจ SMEs ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้าและการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร อาทิ พืชผัก ผลไม้ สมุนไพร ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการปรับเปลี่ยนจากการขายผลผลิตทางการเกษตรในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำเป็นการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการทำการตลาดอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยต้องแบ่งแยกกลุ่ม Startup หรือ SMEs ที่มีนวัตกรรมออกจากกลุ่ม SMEs ฐานราก การส่งเสริมกลุ่ม Startup จึงควรเป็นไปในแนวทางส่งเสริมโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Competitive Growth) อาทิ การเปิดประตูสู่เวทีโลกผ่านการสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่าง Accelerator หรือ Venture Capital กับ Startup การผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากการส่งเสริมกลุ่ม SMEs ฐานรากที่ควรส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการเติบโต (Inclusive Growth) อาทิ การหาตลาดหรือผู้ซื้อ การเพิ่มพูนทักษะความรู้ การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการทำธุรกิจ การจัดเตรียมช่องทางเพื่อกระจายสินค้า เป็นต้น

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการ หรือ SMEs ก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้กลายเป็น Smart Entrepreneur ที่มีความสามารถในการผลิต ค้าขาย และทำการตลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยของเราก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” กลายเป็นประเทศโลกที่หนึ่งที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในที่สุด