บทความ

EEC & Digital Government

26/09/2561

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแผนดิจิทัลไทยแลนด์ คือการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกต่างมีความพยายามในการขับเคลื่อนการเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลดิจิทัลจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และเป็นกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม

ในอดีตเราต่างคุ้นเคยกับคำว่า "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" หรือ "E-Government" ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเจตนารมณ์ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเพียงแต่นิยามของรัฐบาลดิจิทัลได้ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นจากรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์โดยครอบคลุมถึงวิธีการที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐมากยิ่งขึ้น รัฐบาลดิจิทัลจึงมุ่งเน้นการให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาผลการจัดอันดับ E-Government Development Index และ E-Participation Index ประจำปี 2559 – 2560 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของภาครัฐในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานและการเข้าถึงประชาชนโดยทำการสำรวจจากประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับอันดับที่ 77 และอันดับที่ 48 ตามลำดับ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังขาดองค์ประกอบบางประการในการยกระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งแนวคิดสากลที่สำคัญในการพัฒนาบริการของภาครัฐคือ การนำภาครัฐไปสู่การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop Service) ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกภาคส่วนในการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินการพัฒนางานบริการภาครัฐในรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (OSS) รวมถึงมีแผนการพัฒนาเป็น Total Solution Center (TSC) ต่อไปในอนาคต เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนตามแนวทางรัฐบาลดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ ปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และสามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติ ตลอดจนพัฒนาการเชื่อมโยงบริการพื้นฐาน (Service Platform) และระบบฐานข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลที่มีประโยชน์ไปต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมบริการ และสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจต่อไป

หัวใจของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลนั้นจึงไม่ใช่การมีระบบเทคโนโลยีหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย หากเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีสารสนเทศจึงควรมีบทบาทเป็นเพียงแค่สื่อกลางที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสาร สิทธิประโยชน์ ตลอดจนเป็นสื่อสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย การทำประชามติ และการให้บริการของภาครัฐเพื่อทำให้การดำเนินงานเกิดความครอบคลุม และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบ โจทย์ของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลจึงยังเป็นภารกิจที่ท้าทายและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันข้าราชการไทยให้ออกจากกรอบความคิดและวิธีการทำงานแบบเดิม สามารถประสานทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้อย่างสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันอันจะเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ตามโครงการ Digital Government ให้ประสบความสำเร็จต่อไป