บทความ
THE SUPPLY CHAIN
27/05/2563คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้กลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของระบบการผลิตภายใต้แนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ตั้งอยู่บนหลักการกระจายกระบวนการผลิตออกไปยังประเทศหรือทวีปต่างๆ ทั่วโลกตามความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี หรือแรงงาน แต่ก็ยังคงสามารถผสานเชื่อมต่อถึงกันด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความเกี่ยวโยงและพึ่งพาซึ่งกันของหน่วยการผลิตต่างๆ ก็ส่งผลให้ Supply Chain ดังกล่าวมีความเปราะบางจนภาวะหยุดชะงักที่เกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งส่งผลกระทบไปไกลเกินกว่าระดับประเทศหรือเพียงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น
จากการเปิดเผยของบริษัท Gartner สาเหตุที่ทำให้การระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้เป็นความท้าทายสำคัญเกิดจาก (1) การเข้าถึงแหล่งผลิตต้นทางที่ถูกจำกัด (2) การขาดแคลนแรงงาน (3) การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงวัสดุและอุปกรณ์ (4) เส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด และ (5) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง โดยเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากมาตรการ lockdown ที่ส่งผลให้มีการปิดโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ในอู่ฮั่น เช่น กรณีของ GM และ Honda หรือ การที่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่จากประเทศจีนเพื่อใช้ในการประกอบสินค้าปลายทางสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
แม้ว่าในอดีตห่วงโซ่การผลิตโลกก็เคยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตและมีการปรับตัวมาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะและเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี 2554 ที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ชาวญี่ปุ่นต้องลดความเสี่ยงด้วยการกระจายฐานการผลิตออกนอกประเทศ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่ผ่านมาที่กลายเป็นแรงผลักดันหรือ Catalyst สำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตทั้งชาวต่างชาติและชาวจีนต่างพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน
แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดที่ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรงและคาดว่าจะยาวนานไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต่างเริ่มหันกลับมาพิจารณาทางเลือกของการใช้แหล่งวัตถุดิบและ Supplier ในภูมิภาค ตลอดจนการจูงใจให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนเช่นกรณีของรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่มีการพิจารณางบประมาณสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนตามกลยุทธ์ China Plus One เป็นต้น
ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยเนื่องจากเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ ของโครงการ EEC ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ก็จะทำให้ EEC กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค CLMV เป็นอย่างดีจนเกิดเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่สามารถกระจายความเสี่ยง ทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งผลิตต้นทาง ตลอดจนการจัดหาทรัพยากร อาทิ แรงงาน วัตถุดิบ อุปกรณ์ เป็นต้น
รวมถึงเมื่อพิจารณาถึงศักยภาพเนื่องจากการเติบโตของจำนวนประชากรและความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นภายในภูมิภาคก็ยิ่งทำให้โครงการ EEC มีความโดดเด่นและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน การกำหนดให้มีมาตรการสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะที่ห่วงโซ่อุปทานโลกเริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวและกลับมาเปิดดำเนินการผลิตภายหลังจากที่หลายประเทศสามารถควบคุม COVID-19 ได้เป็นผลสำเร็จแล้วนั่นเอง