บทความ
FoodTech กับความมั่นคงในการจัดการห่วงโซ่อาหาร (2)
18/08/2564คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ผู้เขียนได้เคยชวนท่านผู้อ่านคุยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่มีต่อห่วงโซ่อาหาร และได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงกรณีศึกษาของบางประเทศในการจัดการปัญหาโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอชวนคุยกันต่อถึงบทบาทของเทคโนโลยีด้านอาหาร หรือ FoodTech ที่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อความมั่นคงของการจัดการห่วงโซ่อาหารภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน
ผลงานวิจัยจาก Emergen Research ได้พยากรณ์เอาไว้ว่าตลาด FoodTech จะมีมูลค่าสูงถึงกว่า 3.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปีพุทธศักราช 2570 โดยเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น การนำเอาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปอาหารสมัยใหม่มาใช้ หรือการนำเอา Big Data มาวิเคราะห์วางแผนตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น การให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะของอาหาร การเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ ไปจนถึงพฤติกรรมในการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างของ FoodTech ที่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหารให้มีความมั่นคงและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เช่น
1) Smart Farming หรือ Precision Agriculture คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำระบบเกษตรสมัยใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรและช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนการผลิตหรือการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การใช้เซ็นเซอร์หรือโดรนในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ หรือการใช้ระบบบริหารจัดการฟาร์มเพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างของ Startup ที่พัฒนาระบบ Smart Farming เช่น บริษัท ClimateAI ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้พัฒนาโมเดลในการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับข้อมูลทางด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร เพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนการเพาะปลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางราคาของพืชผลทางการเกษตร
2) Next-Gen Food & Drinks หรือการคิดค้นพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตัวอย่างที่เราน่าจะเห็นกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant-based meat) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ และกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยตัวอย่างของบริษัทที่พัฒนาเรื่องดังกล่าว เช่น บริษัท Eighth Day Foods จากออสเตรเลียที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ในเครื่องหมายการค้า Lupreme ซึ่งทำมาจากพืช 100% แต่สามารถทำรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการได้เทียบเท่ากับการบริโภคเนื้อสัตว์จริง ๆ โดยสิ่งที่แตกต่างจาก Plant-based meat เจ้าอื่น ๆ คือการที่ Lupreme ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับลักษณะและการปรุงอาหารแบบเอเชียโดยเฉพาะ
นอกจากนั้นแล้ว FoodTech ที่พวกเราคุ้นเคยและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันก็คือ บริการสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็น FoodTech ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยยูโรมอนิเตอร์ได้ประเมินเอาไว้ว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยจะมีมูลค่ารวมกว่า 80,000 ล้านบาทในปี 2565 และจะเติบโตเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปีไปจนถึงปี 2567
สำหรับประเทศไทยเองนั้น FoodTech จะทวีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก และช่วยต่อยอดความได้เปรียบของไทยในฐานะ “Kitchen of The World” ต่อไปได้อย่างยั่งยืน