บทความ

PLANT-BASED FOOD

10/11/2564

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในปัจจุบันธุรกิจอาหารจากพืช หรือ Plant-based food นั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ กระแสลดการบริโภคเนื้อสัตว์ คุณค่าทางโภชนาการของอาหารจากพืช และการเพิ่มขึ้นของผู้รับประทานมังสวิรัติ/ Flexitarian เป็นต้น โดยองค์กร Globe Newswire ก็ได้คาดการณ์ว่าตลาด Plant-based food โลกจะมีมูลค่าสูงถึง 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2027 เท่ากับร้อยละ 11.9 เลยทีเดียว

เนื่องจาก Plant-based food นั้นผลิตจากพืช ผัก ผลไม้ รวมไปถึงธัญพืชต่างๆ ทำให้มีคอเลสเตอรอล/ ไขมันอิ่มตัวน้อย ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติน้อยกว่าเนื้อสัตว์อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ อาหารจากพืชจึงกลายเป็นทางเลือกสำคัญของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ/ สิ่งแวดล้อม และกำลังได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอาหารทั่วโลก อาทิเช่น Danone บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศสที่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากพืช (Dairy-like drink) ที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังมี Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผลิตโปรตีนทางเลือกจากถั่วและน้ำบีทรูท ซึ่งในปัจจุบัน Beyond Meat นั้นได้เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับร้านค้า/ ร้านอาหารมากกว่า 77,000 ร้านครอบคลุม 65 ประเทศทั่วโลก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กระแสรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็กระตุ้นให้ผู้บริโภคต่างหันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชส่งผลให้ตลาด Plant-based food มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีก็ได้เปิดเผยว่ามูลค่าทางการตลาดของ Plant-based food ในประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2024 ซึ่งภาครัฐเองก็มีความพยายามสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for Future) และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) ผ่านทางมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ โดยในปี 2020 มีโครงการด้านการเกษตรและอาหารแปรรูปที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 185 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 41,140 ล้านบาทเลยทีเดียว

ตลอดจน ภาคเอกชนเองก็ต่างตระหนักถึงความสำคัญของกระแส Plant-based food และพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ที่ได้จัดตั้งแบรนด์ OMG Meat ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเล/ เนื้อสัตว์จากพืช อาทิ เนื้อปู หมู และไก่ เป็นต้น อีกทั้ง ยังมี Innobic (Asia) บริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ของกลุ่ม ปตท. ที่ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ ในการจัดตั้งโรงงานผลิตโปรตีนทางเลือกกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2022 อีกด้วย

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถคว้าโอกาสจากปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากรธรรมชาติ/ วัตถุดิบทางการเกษตรที่สมบูรณ์ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้ว โดยการต่อยอดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป สร้างโอกาสในการส่งออกให้แก่เกษตรกร/ ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ครัวของโลก” หรือแหล่งผลิตอาหารครบวงจรได้อย่างแท้จริงนั่นเอง