บทความ
EV HUB
14/09/2565คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทำให้ความนิยมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดนับเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย อุตสาหกรรมยานยนต์จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและส่งผลให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากพิจารณาถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคซึ่งเอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพ รวมถึงการมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานฝีมือที่มีทักษะ โดยนอกเหนือจากจุดแข็งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ภาครัฐเองก็ยังมีนโยบายขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะทุกประเภทอีกด้วย ความได้เปรียบเหล่านี้จึงถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของของภูมิภาค (EV Hub) ได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็น EV Hub อย่างสมบูรณ์แบบนั้นยังคงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อร่วมกันปลดล็อคข้อจำกัดที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานอย่างครอบคลุม ฯลฯ การส่งเสริมด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตที่ต่างไปจากปัจจุบัน ตลอดจนการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การให้ส่วนลดหรืออัตราภาษีพิเศษเพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
จากการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ล่าสุดระบุว่า ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศเพื่อมาลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายราย ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ยุโรป รวมถึงจีน โดยปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ BYD บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งเป็นบริษัทล่าสุดที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงถึง 17,891 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานบนพื้นที่จำนวน 600 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group สำหรับการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาและรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและยุโรปอีกด้วย
การลงทุนในครั้งนี้ถือการเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย รวมถึงเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่การเป็น EV Hub ของภูมิภาค เนื่องจากการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์รายใหญ่นั้นจะดึงดูดให้เครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก โดยผู้เขียนมีความเห็นว่า ประเทศไทยเรานั้นไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดไปถึงระดับโลกได้อีกด้วย