บทความ
Nature-based Solutions (NbS)
21/12/2565คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับผลกระทบทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในอดีตที่ทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ผลกระทบทางธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ทำให้ผู้คนต่างได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายามค้นหาแนวทางการจัดการแบบองค์รวมที่คำนึงถึงธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมๆกัน
ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและกำลังถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solutions (NbS) ที่เป็นการดำเนินการปกป้อง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูธรรมชาติ หรือระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การรักษาความปลอดภัยทางน้ำ (Water Security) ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) และ การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster Risk Reduction) เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติ (UN) ก็ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนใน Nature-based Solutions ของทั่วโลกปัจจุบันไว้ในรายงาน State of Finance for Nature ว่ามีมูลค่าสูงถึง 133 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิประเทศ (40%) การฟื้นฟูผืนป่า/ พื้นที่ชุ่มน้ำ และเกษตรกรรมแนวใหม่ที่เน้นการฟื้นฟูดิน หรือ Regenerative Agriculture (17%) และ การอนุรักษ์น้ำ (13%) อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับยอดการลงทุนเพื่อการจัดการปัญหาด้านภูมิอากาศ หรือ Climate Finance ซึ่งมีมูลค่ากว่า 579 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แล้วจะพบว่าเงินลงทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิธีทางธรรมชาติอย่าง NbS Finance นั้นยังถือว่าค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ องค์กร UN จึงได้คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะต้องเพิ่มการลงทุนใน NbS ให้สูงถึง 536 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าภายในปี 2050 จึงจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งเอาไว้ได้นั่นเอง
ในขณะที่หลายประเทศต่างตื่นตัวกับการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ NbS ประเทศไทยเองก็หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐเองก็ได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้าน NbS อยู่อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จาก โครงการ EEC ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจน การเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ของประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) และ การดำเนินงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนายกระดับด้านการจัดการอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ ภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการส่งเสริมที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการสร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มการลงทุนในโครงการด้าน NbS อย่างจริงจัง พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเองก็ควรสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง ‘ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ’ เพื่อหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาไปตามแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานในระยะยาวได้อย่างแท้จริง