บทความ
DIGITAL TRIPLET: DIGITAL TWINS IN THE ERA OF AI
27/05/2567คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจในทุกกระบวนการ โดย Digital Twin นับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่สามารถเข้ามาช่วยปลดล็อคศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดที่การทำงานแบบกายภาพไม่สามารถทำได้ โดยการสร้างแบบจำลองวัตถุบนโลกความเป็นจริงให้กลายเป็นวัตถุเสมือนบนโลกดิจิทัลเพื่อใช้ในการทดสอบสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนนำไปปฏิบัติจริงซึ่งทำให้ช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้แนวคิดของ Digital Twin ถูกพัฒนาต่อยอดและยกระดับไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า Digital Triplets ที่เป็นการผสานระหว่าง 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) Physical Object หรือ วัตถุทางกายภาพ เช่น โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ (2) Digital Twin ที่เป็นรูปแบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุทางกายภาพนั้น และ (3) AI & Real-time Data ที่ทำให้ Digital Twin พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยการผนวกรวมของทุกองค์ประกอบส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจาก Digital Twin ที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลจาก Sensor ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองออกมาได้อย่างละเอียดและสมจริง โดย AI จะเข้ามาช่วยในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่นี้เพื่อทำการวิเคราะห์แบบเชิงลึกและครอบคลุมทุกมิติซึ่งจะช่วยในการระบุปัญหาอย่างรวดเร็ว รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น วิเคราะห์ความเสี่ยง หาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม ไปจนถึงการตัดสินใจอย่างแม่นยำ
ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับลักษณะงานที่มีความซับซ้อนสูงอย่างในอุตสาหกรรมการผลิต โดยสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการจำลองผลิตภัณฑ์ร่วมกับการใช้ AI เพื่อทดสอบและปรับแต่งก่อนผลิตจริงซึ่งเป็นการช่วยลดทั้งต้นทุนและระยะเวลา รวมถึงการวางแผนผลิตโดยการจำลองสายการผลิตทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพก่อนดำเนินการจริงและใช้ AI ในการช่วยหาจุดบกพร่องพร้อมทั้งแนะนำแนวทางการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดไปจนถึงการบำรุงรักษาเชิงป้องกันโดย AI สามารถวิเคราะห์รูปแบบการทำงานและคาดการณ์ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องจักร ซึ่งช่วยในการวางแผนการบำรุงรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักของสายการผลิตที่อาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอย่างมาก
เมื่อการผนวกรวมของเทคโนโลยีไม่เพียงแต่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แต่ยังนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กรจำนวนมากให้ความสำคัญและลงทุนกับเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น Michelin ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในระหว่างการพัฒนายางรูปแบบใหม่เพื่อให้ได้ยางที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติในการกระจายน้ำหนักที่เหมาะกับรถยนต์แต่ละรูปแบบมากที่สุด หรือ Denso ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวในการพัฒนาเทคโนโลยี Digital Triplet ที่ช่วยจำลองทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาของช่างผู้ชำนาญการเพื่อการถ่ายทอดความรู้สู่บุคลากรรุ่นใหม่ เป็นต้น
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในเชิงลึกของหลายองค์กรต่างมีความเห็นตรงกันว่า ทิศทางการเติบโตของ Digital Twin ในยุคที่ AI มีศักยภาพอันทรงพลังจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและจะเข้ามีบทบาทต่อทุกอุตสาหกรรมมากขึ้นนับจากนี้ จึงนับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการปรับการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ซึ่งจะเป็นรากฐานในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อยกระดับธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันและเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ต่อไปนั่นเอง