บทความ

DRONE TECHNOLOGY

28/10/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จากจุดเริ่มต้นที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหาร ปัจจุบันโดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นทั้งการบินอัตโนมัติ การถ่ายภาพและวิดีโอคุณภาพสูง รวมถึงความสามารถในการบรรทุกสัมภาระ ทำให้โดรนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีโดรนได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านแบตเตอรี่ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการใช้งาน การพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ได้ยกระดับประสิทธิภาพของโดรนอย่างมาก ด้วยความจุพลังงานที่สูงขึ้น น้ำหนักที่เบาลง และความเร็วในการชาร์จที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยขยายขอบเขตการบินทั้งในแง่เวลาและระยะทาง แต่ยังลดการหยุดชะงักระหว่างการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของโดรนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านพลังงาน ระบบนำทางก็มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเช่นกัน ด้วยการผสานกันของเทคโนโลยี GPS, LiDAR และ Radar ทำให้โดรนสามารถระบุตำแหน่งและนำทางได้อย่างแม่นยำ แม้ในสภาพแวดล้อมที่มีสัญญาณรบกวนสูง นอกจากนี้ การบรูณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับระบบควบคุมโดรน ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจแบบเรียลไทม์ สามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและปรับเส้นทางการบินได้โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งประมวลผลภาพเพื่อช่วยในการระบุวัตถุ ติดตามเป้าหมาย และหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถนำเข้าข้อมูลที่เก็บรวบรวมระหว่างการบินมาประยุกต์ใช้ต่อได้อีกด้วย

ด้วยประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดรนจึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจ โดยนอกเหนือจาก Use Case ที่เราได้คุ้นเคยกันอย่างการขนส่งพัสดุแทนวิธีการขนส่งแบบดั้งเดิม หรือ การทำเกษตรกรรมตามแนวคิด Smart Farmer แล้วโดรนยังสามารถเข้ามาช่วยปฏิวัติวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมได้อย่างไร้ขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น การจัดการสินค้าคงคลัง โดยใช้โดรนสแกนและนับสินค้าคงคลังแทนการใช้พนักงานจำนวนมากในการสแกนรหัสและบันทึกการจัดวางสินค้า หรือ การรักษาความปลอดภัยและการเฝ้าระวัง (Security & Surveillance) เพื่อช่วยลาดตระเวนพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยใช้ AI ควบคู่เพื่อช่วยในการแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบเหตุการณ์ผิดปกติ หรือ การตรวจสอบทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลามากหรือเป็นงานที่มีความเสี่ยงอย่างเช่นการขึ้นที่สูง การใช้โดรนเข้ามาช่วยก็จะสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยกว่าการใช้แรงงานคน เช่น WHA Group ที่มีการใช้โดรนในการตรวจสอบพื้นที่หลังคาของอาคารคลังสินค้าเพื่อตรวจสอบความผิดปกติและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงยังได้ศึกษาการนําโดรนมาใช้สํารวจสภาพจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบดูแลอุบัติเหตุ วิเคราะห์ความเสี่ยง และกําหนดมาตรการป้องกัน เป็นต้น

แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีศักยภาพในการปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม แต่การพัฒนาและการนำไปใช้ให้แพร่หลายยังคงเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ทั้งข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลของสังคมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และมลภาวะทางเสียง รวมถึงต้นทุนการใช้งานเชิงพาณิชย์ที่สูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ยับยั้งการเติบโตเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของความก้าวหน้าทางเทคนิค การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ และทัศนคติของสังคม เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในอนาคตต่อไป