บทความ
LOW CARBON ECONOMY
20/01/2564คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญและกำลังส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล แต่ละประเทศทั่วโลกจึงต่างให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว ตลอดจนได้มีความพยายามผลักดันให้ประเทศของตนพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Economy เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
Low Carbon Economyแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกผลักดันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G7 ได้แก่ แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่ได้มีการส่งเสริมการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศผ่านทางการออกกฎหมาย รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือด้านการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันประเทศฝรั่งเศสก็ได้สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 โดยรัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ออกนโยบายและมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดอีกด้วย แนวทางการพัฒนาไปสู่ Low Carbon Economy ของกลุ่มประเทศในยุโรปถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่ประเทศอื่นๆทั่วโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศของตนเองได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเองก็ได้มีความพยายามผลักดันการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดปริมาณก๊าซ CO2 ผ่านแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งภาครัฐได้กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท อีกทั้งยังมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานขยะอุตสาหกรรม ฯลฯ ในขณะที่ภาคเอกชนต่างก็ให้ความสนใจและพยายามร่วมลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด อาทิ บริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group ก็ได้ร่วมลงทุนในโครงการชลบุรี คลีน เอเนอร์ยี ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้โดยตรง โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตถึง 8.63 เมกะวัตต์ เป็นต้น โดยในปี 2562 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบตามสัญญาการรับซื้อของรัฐมีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมรวม 8,935 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2561 เลยทีเดียว
โครงการ EEC ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและได้กำหนดให้การลงทุนในพื้นที่ EEC จะต้องใช้พลังงานสะอาด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น 11 ล้านตันภายในระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย การตั้งเป้าหมายดังกล่าวนับเป็นช่องทางสำคัญในการส่งเสริมพื้นที่ EEC ไปสู่การเป็น Low Carbon Society นั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศถือเป็นประเด็นสำคัญซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแล การสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐผ่านทางการออกกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงมาตรการสนับสนุนทางภาษีต่างๆ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการผลักดันประเทศให้พัฒนาไปสู่ Low Carbon Economy อย่างไรก็ตามการพัฒนาดังกล่าวยังคงต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งและร่วมรับผิดชอบต่อระบบนิเวศที่ตนอาศัยอยู่เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้อยู่ในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้ ตลอดจนรักษาสมดุลของภูมิอากาศในระยะยาวนั่นเอง