บทความ

Internet of Behaviors (IoB)

10/03/2564

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

Internet of Things หรือ IoT เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย การประยุกต์ใช้ IoT ในวงกว้างทำให้ตลาด IoT เติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็น IoT ทั้งตลาดผู้บริโภค เช่น อุปกรณ์ Wearable Device, Smart Gadget, Smart Home ฯลฯ รวมถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่นำ IoT มาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายหรือยกระดับประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่นำ IoT มาเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่เชื่อมต่อเครื่องจักรให้สามารถสื่อสารถึงกันได้และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น

จากการคาดการณ์แนวโน้มเทคโนโลยีประจำปี 2021 Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ระบุว่า Internet of Behaviors หรือ IoB ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก IoT ได้กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองแห่งปี รวมถึงคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกจะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีนี้ โดย IoB ประกอบไปด้วย (1) เทคโนโลยี เช่น การจดจำใบหน้า ระบบติดตามพิกัด ฯลฯ ที่เก็บรวบรวมเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล (2) พฤติกรรมศาสตร์ หรือ Behavioral Science เช่น อารมณ์ การตัดสินใจ เป็นต้น และ (3) Data Analytics โดยนำ Big Data เชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลทางพฤติกรรมและวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรม ความชอบ รวมถึงความสนใจของผู้ใช้งาน และพัฒนาไปสู่การสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม

โดย IoB สามารถผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยรวบรวมข้อมูลมหาศาลหรือเรารู้จักกันในชื่อ Digital Dust เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก ตัวอย่างเช่น Telematics เทคโนโลยีตัวช่วยสำหรับธุรกิจขนส่ง โดยการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับรถยนต์เพื่อบันทึกการใช้งานของพนักงาน การทำงานของเครื่องยนต์ และพฤติกรรมการขับขี่ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทสามารถนำ IoB มาประกอบกับการใช้ Computer Vision เพื่อช่วยรักษามาตรฐานความปลอดภัยโดยการแจ้งเตือนหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ นอกจากนี้การควบคุมพฤติกรรมทางสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจ เช่น พฤติกรรมการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การนอนหลับ เป็นต้น โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นส่วนประกอบที่ช่วยตอบโจทย์การจัดการดูแลสุขภาพเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลและการรักษาเชิงป้องกันได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การชักจูงเชิงพฤติกรรมผ่าน IoB นั้นเกิดจากการต่อยอดการใช้งานอุปกรณ์ IoT จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ภาครัฐของไทยมุ่งให้การส่งเสริมได้เช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยการติดตั้งระบบแจ้งเตือนความผิดปกติที่เป็นอันตรายในการขับขี่เข้ากับ Connected Vehicle หรือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรโดยการนำข้อมูลจาก Internet of Medical Things (IoMT) มาประกอบการรักษาและการวินิจฉัยโรค รวมถึงกระตุ้นพฤติกรรมของผู้ป่วยตลอดการรักษาตั้งแต่การรับประทานยาอย่างครบถ้วนเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพตลอดจนการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคในระยะยาว เป็นต้น

ถึงแม้ปัจจุบัน IoB จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงมีการนำมาประยุกต์ใช้ในวงที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงยังมีข้อถกเถียงเนื่องจากอาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตาม IoB ก็เป็นเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เราไม่ควรมองข้ามเพราะในศตวรรษที่ 21 ผู้ครอบครองข้อมูลและเทคโนโลยีจะกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองเช่นเดียวกับผู้กุมทรัพยากรการผลิตในอดีต ดั่งเช่นคำเปรียบเทียบที่ว่า “Data is the New Oil, AI is the New Electricity” นั่นเอง