บทความ

ELECTRIC VEHICLE

27/10/2564

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน แต่ละประเทศจึงต่างหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Climate Risks ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์จากระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) จึงเป็นหนึ่งทางออกสำคัญที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำพาประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนได้ หลายประเทศจึงมีการแสดงจุดยืนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการประกาศนโยบายที่มุ่งเป้าหมายไปสู่การใช้รถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles: ZEV) อย่างเต็มรูปแบบ อาทิเช่น นอร์เวย์ที่ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ ICE ภายในปี 2024 หรือ ยุโรปที่ประกาศยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ ICE และกำหนดให้รถทุกคันที่วางขายในยุโรปเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป นอกจากนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ยังระบุว่า กว่า 20 ประเทศทั่วโลกได้มีการประกาศยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ ICE ภายในปี 2025-2040 และมุ่งขายรถยนต์ EV หรือ ZEV 100%

จากการศึกษาประเทศผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างนอร์เวย์ที่มีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก รวมถึงประเทศจีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของในโลกนั้นพบว่า ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการใช้รถใช้ถนนและมาตรการของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ โดยทุกประเทศต่างกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนอย่างจริงจังซึ่งครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การกระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น การยกเว้นภาษีรถยนต์หรืออัตราภาษีพิเศษ การมอบเงินสนับสนุน การยกเว้นการเก็บค่าบริการทางด่วน (2) การกระตุ้นอุปทาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิต การพัฒนา หรือการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่มากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มาตรการดึงดูดให้ผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาลงทุน นโยบายยกเว้นภาษีนำเข้า การให้สิทธิการลดหย่อนภาษีกับบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และ (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งาน เช่น การสร้างเครือข่าย EV Charging Station ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การให้เงินอุดหนุนสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์ตไฟที่บ้าน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน แต่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติก็ได้เริ่มกำหนดแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรมผ่านนโยบาย 30/30 โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 750,000 คันภายในปี 2030 นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่โครงการ EEC มุ่งให้การสนับสนุนผ่านมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อันจะเป็นส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกมาลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยทั้งสำหรับใช้ภายในประเทศและเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในภูมิภาคได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์ ICE ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงควรเร่งปรับตัวและพัฒนาเพื่อรักษาตำแหน่งผู้ผลิตยานยนต์หลักของภูมิภาคต่อไปนั่นเอง