บทความ

EV CONVERSION

28/12/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีความโดดเด่นและน่าสนใจยิ่งขึ้น ประกอบกับการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค รวมถึงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบของนานาประเทศนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า ในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปีก่อนหน้า

ถึงแม้กระแสการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบนั้นยังคงมีความท้าทายหลายประการที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมที่มีการสร้างรากฐานมาอย่างยาวนานไปสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบห่วงโซ่อุปทาน การดัดแปลงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Conversion) จึงเป็นหนึ่งเส้นทางที่สามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่เพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อ

สำหรับประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน EV Conversion ถือเป็นกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดที่มีในปัจจุบันได้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะมีระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการลงทุนปรับเปลี่ยนสายการผลิตใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการด้านอู่ซ่อมบำรุงที่จะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพการให้บริการและมีเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อีกทั้งภาคประชาชนเองก็จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการลดอุปสรรคด้านกำลังซื้อของภาคประชาชนที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 ตามที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม EV Conversion ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยพัฒนาระบบนิเวศร่วมกันเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ทั้งระบบและทำให้เกิดผลเป็นวงกว้าง ซึ่งการขับเคลื่อนนั้นต้องเกิดจากการกระตุ้นทั้งฝั่งอุปสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและฝั่งอุปทานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิต การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากนี้ การสนับสนุนศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคก็นับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม EV Conversion นอกจากจะช่วยให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ยังถือเป็นโอกาสในการต่อยอดสู่การส่งออกเทคโนโลยี EV Conversion ไปยังประเทศอื่นที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อีกด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต เช่น ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ(Connected and Autonomous Vehicle :CAV) ฯลฯ การปรับตัวเพื่อรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังจะช่วยให้สามารถคว้าโอกาสในโลกยานยนต์ยุคใหม่ได้อีกด้วย