บทความ
EEC HDC
18/01/2566คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ท่ามกลางความผันผวนและกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ สังคม ที่ได้สร้างโอกาสและความท้าทายไปพร้อมๆกัน ทุกประเทศจึงต่างต้องเร่งปรับตัวให้ทันตามกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตลอดจนคิดค้นแนวทางการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้มีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังผ่านทางโครงการต่างๆ โดย หนึ่งในโครงการที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดการลงทุนพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึง Soft Infrastructure ต่างๆ คงหนีไม่พ้น โครงการ EEC ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็ได้มีการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการลงทุนในพื้นที่โครงการแล้วเป็นมูลค่าถึง 1.92 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการลงทุนเดิมที่ตั้งไว้อยู่ที่ 1.70 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ความสำเร็จดังกล่าวเปรียบเสมือนเครื่องตอกย้ำถึงการเป็นจุดหมายการลงทุนของประเทศไทยที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ย่อมนำไปสู่ความต้องการแรงงานทักษะจำนวนมากที่จะเข้ามารองรับการขยายตัวด้านการผลิตและการลงทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการความต้องการบุคลากรในพื้นที่ EEC ที่มีมากถึง 475,668 อัตรา ในช่วงปี 2562 ถึงปี 2566
แม้ทุกปีจะมีบุคลากรชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาจากทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญศึกษา อาชีวะ และปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม บุคลากรส่วนใหญ่นั้นยังขาดทักษะตามความต้องการของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุน อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาแบบเก่าที่ผลิตบุคลากรตามความต้องการของสถานศึกษาเป็นหลัก หรือ Supply Push ด้วยเหตุนี้ โครงการ EEC จึงได้จัดตั้ง สำนักงานคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Human Development Center (EEC HDC) ที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษาและการสร้างบุคลากรให้มีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในพื้นที่ EEC ผ่านทางการพัฒนาหลักสูตร EEC Model ที่มุ่งเน้นผลิตบุคลากรตามความต้องการ (Demand-driven) โดยในปี 2566 นี้หลักสูตรดังกล่าวก็ยังได้วางแผนที่จะพัฒนาบุคลากรให้ได้มากกว่า 50,000 อัตราเลยทีเดียว
นอกจากนี้ สำนักงานคณะทำงาน EEC HDC ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือที่มีกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษากว่า 10 แห่ง และบริษัทเอกชนชั้นนำ ในการตั้ง ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ยุคใหม่ หรือ EEC NETs ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และเสริมทักษะยุคใหม่ที่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิเช่น ศูนย์ EEC Automation Park ศูนย์ EV conversion ศูนย์การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และ ศูนย์พาณิชยนาวี เป็นต้น
ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั้นถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรองรับและคว้าโอกาสจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลกได้แล้ว ที่นอกเหนือไปจากนั้น การเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถ และยกระดับรูปแบบการศึกษา นั้นยังจะช่วยเสริมคุณภาพ ฝีมือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงทักษะที่จำเป็นให้แรงงานชาวไทยให้มีทักษะทัดเทียมกับนานาชาติได้ในระยะยาวด้วยนั่นเอง