บทความ

THE FINANCIAL ORDER

15/07/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอังกฤษที่เป็นมหาอำนาจเดิมและประเทศขนาดใหญ่ในทวีปยุโรปต่างก็ได้รับความเสียหายจากผลของสงคราม สหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่ห่างออกไปจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า และด้วยขีดความสามารถทางการทหารประกอบกับความมั่งคั่งจากการถือครองทองคำปริมาณมาก สหรัฐฯ ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่อังกฤษและกลายเป็นผู้กำหนดระเบียบการเงินของโลกใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา

จากข้อตกลง Bretton Woods ที่ผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำในปี 1941 จนกระทั่งการยกเลิก Gold Standard ในปี 1971 และแทนที่ด้วย Fiat Money เมื่อปี 1973 ระเบียบการเงินของโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และเป็นสกุลเงินหลักที่ค่าเงินของประเทศต่างๆ ถูกผูกไว้ตามอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวก็ส่งเสริมบทบาทผู้นำของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ควบคุมเครือข่ายระบบการเงินของโลกแบบรวมศูนย์ที่เชื่อมโยงทุกประเทศเข้าไว้ด้วยกันและทำให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีเสถียรภาพจนผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้สหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือระบบการเงินของประเทศต่างๆ และสามารถขยายอำนาจทางการค้าการลงทุนโดยปราศจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงระดมทุนได้อย่างไม่จำกัดเนื่องจากพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการของนักลงทุนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ระหว่างสหรัฐฯ - จีน และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เช่น การถดถอยของโลกาภิวัตน์ วิกฤตการเงิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เช่น การประกาศขึ้นลงอัตราดอกเบี้ย การพิมพ์เงิน ฯลฯ ก็ได้สร้างความผันผวนทั้งต่อตลาดเงิน ตลาดทุน/ ตราสารหนี้ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของหลายประเทศและทำให้สหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังใช้สกุลเงินเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันและโจมตีฝ่ายตรงข้าม อาทิ มาตรการคว่ำบาตรที่มักจะตามมาด้วยการตัดออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) หรือการอายัติทรัพย์สินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีน ก็ทำให้ความตึงเครียดจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยทั้งรัสเซียและจีนต่างก็เป็นขั้วอำนาจที่พยายามท้าทายอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาอย่างยาวนาน เช่น รัสเซียตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินรูเบิ้ล หรือจีนที่ผลักดันเงินหยวนขึ้นมาแข่งกับดอลลาร์สหรัฐพร้อมกับพัฒนาระบบ Cross-Border Interbank Payment System (CIPS) เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน SWIFT ของชาติตะวันตก เป็นต้น

แม้ว่ากระแส De-Dollarization จะทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มหาวิธีลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีสกุลเงินใดที่มีศักยภาพแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักของโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าและปริมาณการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญโดยเฉพาะจีนและพันธมิตรก็กำลังส่งเสริมบทบาทสกุลเงินของประเทศเหล่านั้น หรือสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin ที่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้พรมแดน กระจายศูนย์ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐใดรัฐหนึ่งย่อมท้าทายคุณสมบัติการเป็นเสาหลักทางการเงินของดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน อนาคตของระบบการเงินโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ เองว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในระดับมหภาคและคงไว้ซึ่งความไว้วางใจเมื่อเทียบกับทางเลือกใหม่ๆ ได้มากน้อยเพียงใด