บทความ

SMART ENERGY

18/03/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงานเริ่มต้นขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ควบคู่ไปกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ที่มีการนำพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ มาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องจักรไอน้ำ กระบวนการผลิตเหล็ก รวมถึงเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานประเภทใช้แล้วหมดไปจึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานสำหรับการผลิตและการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานี้ได้ ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและค้นหาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่อีกครั้งโดยมีเป้าหมายการแสวงหาแหล่งพลังงานชนิดอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนการค้นหาวิธีการบริหารจัดการพลังงานที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากแหล่งที่สามารถหาทดแทนหรือนำมาใช้ใหม่ได้ก็มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการพลังงานก็จะเกิดเป็น Disruption ที่เปลี่ยนแปลงภาพของอุตสาหกรรมพลังงานไปอย่างสิ้นเชิง

การพัฒนาของ Disruptive Technology ทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานของไทยต้องเร่งปรับตัว โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และการจัดการแบบรวมศูนย์จะถูกลดบทบาทลง แนวโน้มของระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตกลายเป็นระบบการจัดการแบบกระจาย (Distributed Energy Resource) ที่พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนและอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อทำให้การบริหารจัดการพลังงานมีประสิทธิภาพ ลดการสิ้นเปลืองและการสูญเสีย รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถมีส่วนร่วมในการผลิต และกลายเป็นยุคของ Prosumer ที่หน่วยไฟฟ้าย่อยต่างๆ จะเป็นทั้งผู้บริโภค และผู้ผลิต/ ผู้ขายพลังงานไฟฟ้าอย่างครบถ้วนในตัวเอง

ซึ่งทิศทางของระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการผลิตแบบกระจายศูนย์ก็ทำให้เกิดโมเดลการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro-Grid) ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยการติดตั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ Smart Micro-grid มีความสามารถในการควบคุมโครงข่ายได้อย่างอัตโนมัติจึงก่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืนในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าภายในโครงข่ายตนเองโดยเมื่อไม่นานมานี้ WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ WHA Group เองก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานต่างๆ รวมถึงการพัฒนา Smart Micro-grid ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) โดยเฉพาะแบตเตอรีประเภท Lithium-ion ที่ปัจจุบันมีต้นทุนลดต่ำลงอย่างรวดเร็วสวนทางกับประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้การใช้งาน ESS สำหรับการผลิตและจัดการไฟฟ้าของไทยก็น่าจะเป็นไปอย่างแพร่หลายโดยไม่ใช่แค่เพียงการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมแต่ยังรวมไปถึงระดับครัวเรือนดังเช่นกรณีศึกษาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในกลุ่ม EU ที่สนับสนุนให้ประชาชนของตนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านควบคู่ไปกับการใช้แบตเตอรี่ เป็นต้น

ช่วงเวลานี้คณะกรรมการ ERC ก็อยู่ระหว่างการจัดให้มีโครงการทดสอบเพื่อช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและประเมินผลกระทบเนื่องจากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมไฟฟ้าตลอดจนช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในวงกว้างแล้วก็ยังจะเป็นตัวกำหนดความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาวอีกด้วย