บทความ

ADVANCED AIR MOBILITY

09/09/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับอุตสาหกรรมการบินก็เช่นเดียวกัน โดยมีการพัฒนาแนวคิดที่น่าสนใจอย่าง Advanced Air Mobility (AAM) ที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมทางอากาศในอนาคตอย่างสิ้นเชิง

โดยองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ให้คำนิยาม Advanced Air Mobility (AAM) หรือการเคลื่อนที่ทางอากาศขั้นสูงว่าเป็นเสมือน "ร่มคันใหญ่" ที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมด้านการบินยุคใหม่ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบอัตโนมัติขั้นสูงที่นำไปสู่การบินแบบไร้นักบินหรือการควบคุมการบินจากระยะไกล การพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนายานพาหนะทางอากาศขนาดเล็กสำหรับการเดินทางระยะสั้น หรือแม้แต่การนำปัญญาประดิษฐ์และวัสดุอุปกรณ์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับเทรนด์โลกปัจจุบันและนับว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม AAM จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2024-2032 ด้วยอัตราเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี

นอกจากนี้ รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ AAM ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการขนส่งผู้ป่วย อวัยวะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังนำมาประยุกต์ใช้ในด้านโลจิสติกส์ ช่วยให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่อันตราย หรือพื้นที่ที่เข้าถึงยากสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น AAM ยังมีศักยภาพในการนำมาใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสาร เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางของประชากรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางระหว่างใจกลางเมืองและชานเมืองรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ทางอากาศขั้นสูงจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ไปสู่การนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่นมากมาย แต่การนำไปใช้งานจริงนั้น ยังคงต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในเรื่องการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมกฎระเบียบ ข้อบังคับ เช่น การออกใบอนุญาตสำหรับนักบิน การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องยนต์ การควบคุมจราจรทางอากาศ การจัดการมลพิษทางเสียง ฯลฯ เพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพต่าง ๆ เช่น สถานีจอด สถานีชาร์จ และศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งาน AAM ได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการการบินได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย รวมถึงอีกประเด็นสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนที่อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ยอมรับและทำความคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง

แม้การนำ AAM มาใช้งานจะต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่ขณะเดียวกัน AAM ก็กำลังเปิดประตูสู่ยุคใหม่สำหรับ อุตสาหกรรมการบิน ด้วยศักยภาพที่โดดเด่น AAM จะผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินก้าวสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นอกจากนี้ AAM ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และช่วยเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการสาธารณะที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนา AAM อย่างต่อเนื่องและรอบคอบจึงอาจเป็นก้าวสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของการบินและการขนส่งทางอากาศโลกในอนาคต