บทความ
GLOBAL CHALLENGES
23/09/2567คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อไม่นานมานี้ WHA Group ได้จัดงานแถลงข่าว Business Outlook & Strategy ภายใต้แนวคิด “Shaping the Future through Tech and Sustainability” ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ การวิเคราะห์ภาพ Megatrend ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ โดยเป็นสิ่งที่ผู้เขียนมักเน้นย้ำอยู่เสมอว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักและทำความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์สำคัญซึ่งถือเป็นความท้าทายที่โลกเรากำลังเผชิญและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ประการแรกคือ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการย้ายฐานการผลิต (Geopolitical Tension & Manufacturing Relocation) ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งหลายรูปแบบ ตั้งแต่สงครามการค้า-เทคโนโลยี-ความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ-จีน สงครามในยูเครน-รัสเซีย รวมถึงการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอล-ฮามาส นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งในแต่ละภูมิภาค อาทิ ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน และสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายของเงินทุน และนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิตในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศต้นทาง หรือการย้ายไปยังประเทศใกล้เคียงและประเทศพันธมิตรมากขึ้น นอกจากนี้ ปี 2024 นี้ยังเป็นปีแห่งการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศจำนวนกว่า 60 ประเทศ ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ย่อมส่งผลต่อสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Transformation) ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีประสิทธิภาพในการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับกระบวนการ AI Transformation ซึ่งเป็นการต่อยอดและยกระดับจาก Digital Transformation ไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายที่ต้องตระหนัก ทั้งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประเด็นทางจริยธรรม และความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงาน ประการที่สาม ความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลังงานหมุนเวียน (Sustainability, Climate Change & Renewable Energy) เป็นประเด็นที่กำลังทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในเวทีโลก โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ได้เริ่มกลายเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง หรือ โครงการ RE100 ที่มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2050 นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด Digital Product Passport ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลสินค้าตลอดอายุการใช้งานเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เหล่านี้ล้วนสร้างความท้าทายต่อภาคธุรกิจให้ต้องเกิดการปรับตัวตลอดทั้งกระบวนการ
ประการสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์และการขยายตัวของเมือง (Demographic Shift & Urbanization) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ การเติบโตของชนชั้นกลาง และการเข้ามาของแรงงานรุ่นใหม่ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วก็นำมาซึ่งความท้าทายทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดถูกขับเคลื่อนอยู่บนโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น การเข้าใจ ปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จและความยั่งยืนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง