文章

EEC & Industry 4.0

05/09/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

โลกของอุตสาหกรรมกำลังก้าวสู่การปฏิวัติครั้งใหม่โดยหัวใจของอุตสาหกรรม 4.0 คือ การผสมผสานเทคโนโลยีของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ากับ Internet of Things (IoTs) ทำให้เกิดการบูรณาการของการผลิตในรูปแบบเครือข่ายอัจฉริยะของเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และหน่วยการผลิตต่างๆ เข้าด้วยกัน

จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นการที่เครื่องจักร หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยงกันทำให้สามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันส่งผลให้เครื่องจักร หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรม 4.0 มีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง ความยืดหยุ่น และการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับประสิทธิภาพของภาคการผลิตให้สูงขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อย ลดการสูญเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

แม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากพิจารณาจำนวนหุ่นยนต์ต่อแรงงาน พบว่าความหนาแน่นของการนำหุ่นยนต์มาใช้ในประเทศไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกค่อนข้างมาก จากข้อมูลของ International Federation of Robotics ปี 2560 ผู้เขียนพบว่า ประเทศไทยมีหุ่นยนต์ 45 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 74 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ในขณะที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนที่สูงโดยมีจำนวนความหนาแน่นของหุ่นยนต์อยู่ที่ 631 488 และ 303 ต่อแรงงาน 10,000 คนตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมของไทยต่ำ เนื่องจากทักษะแรงงานของไทยยังไม่เอื้อต่อการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิต โดยหากพิจารณาประเทศที่เป็นผู้ผลิตหรือมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในระดับสูง มักมีปัจจัยด้านตลาดแรงงานที่เอื้อต่อการนำหุ่นยนต์มาใช้ เช่น จำนวนแรงงานหรือผู้ที่จบการศึกษาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM: Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ในสัดส่วนสูง หรือในกรณีหากเป็นการนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศ แรงงานส่วนใหญ่ก็จะมีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดีเพราะเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการควบคุมหุ่นยนต์และเครื่องจักร

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและแนวโน้มค่าแรงที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการและระดับของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น จะกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ประกอบการพิจารณาปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงานคนเพื่อความคุ้มค่าและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อตลาดแรงงานและปัญหาคนว่างงานจึงเป็นประเด็นที่ทุกๆ ฝ่ายไม่ควรละเลย เนื่องจากระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่ไทยใช้ในการแข่งขันในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 มาโดยตลอด ซึ่งหากขาดการวางแผนที่ดีก็จะยิ่งเป็นการขยายช่องว่างของรายได้เนื่องจากปัญหาคนว่างงานเพราะแรงงานไร้ทักษะจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในที่สุด

การกำหนดแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ โครงการพัฒนาทักษะแรงงาน (Upskill หรือ Reskill) หรือการเน้นสร้าง High Qualified Professionals ในระดับปริญญาตรี โท และเอก ในสาขาที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่ยังขาดแคลน เช่น ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ (Mechatronics Engineering) จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันผลักดันซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาคนตกงานเนื่องจากหุ่นยนต์และช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศตามแนวคิดของยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไปพร้อมๆ กัน