文章

PHYSICAL DISTANCING

15/04/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นอกจากแถลงการณ์คำแนะนำเพิ่มเติมให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว เมื่อไม่นานนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้เริ่มใช้คำว่า “Physical Distancing” (การเว้นระยะห่างทางกายภาพ) ทดแทน “Social Distancing” (การเว้นระยะห่างทางสังคม) ซึ่ง WHO ก็ได้ให้เหตุผลว่า การรักษาระยะห่างทางกายภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางการแพร่ระบาดทั่วโลกแต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะต้องตัดขาดการเชื่อมต่อกับสังคม ครอบครัว หรือคนที่เรารักไปเสียเลยทีเดียว

เนื่องจากหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 น่าจะยืดเยื้อถึง 2 ปีหรือจนกว่าจะสามารถทดสอบและผลิตวัคซีนเพื่อต้านไวรัสได้เป็นผลสำเร็จในอีก 18 เดือนข้างหน้า รวมถึงตัวอย่างจากประเทศจีนที่แม้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดีจนทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว แต่รัฐบาลจีนเองก็ยังคงกำหนดมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เข้มงวดโดยกำหนดให้ชาวจีนต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะรวมถึงการรักษาระยะห่าง มาตรการ Physical Distancing จึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคำแนะนำที่ทุกประเทศทั่วโลกจะนำไปปฏิบัติและบังคับใช้เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มนุษย์สามารถที่จะเชื่อมโยงกับสังคมและผู้คนรอบตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัส อยู่ใกล้ชิด หรืออยู่ในสถานที่เดียวกันอีกต่อไป ความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตทำให้ธุรกิจ E-Commerce และธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์สามารถเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ทุกที่ทั่วโลก และตลอด 24 ชั่วโมง Digital Banking หรือบริการทางการเงินออนไลน์ก็ช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือแอพพลิเคชันได้โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนต่อแถวที่สาขาของธนาคาร รวมถึงเทคโนโลยีการแพทย์ (Telemedicine) และการศึกษาทางไกล (Distance Learning) ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอัตราการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่มีคุณภาพ

เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นเครือข่ายที่มีความล่าช้าต่ำ (Low-Latency) ในขณะที่มีความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพที่สูง (Ultra-Reliable) ทำให้ 5G กลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการดำรงชีวิตและการทำงานในยุค Physical Distancing อาทิ การช่วยปลดล็อคศักยภาพของ AR/ VR สำหรับการทำ Streaming เพื่อถ่ายทอดสดการแสดงคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา เกมส์หรือ e-Sport ฯลฯ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียน หรือการส่งมอบประสบการณ์การประชุมเสมือนและการประชุมออนไลน์ที่ดีเมื่อต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) นอกเหนือไปจากประโยชน์ที่ชัดเจนจากการประยุกต์ใช้งานด้านสาธารณสุข เช่น การใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับการบังคับหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอและพยาบาลตรวจคัดกรองคนไข้ รวมถึงการควบคุมอุปกรณ์ชุดตรวจวัดสุขภาพสำหรับการปรึกษาและตรวจรักษาออนไลน์จึงเป็นการช่วยให้หมอกับคนไข้ไม่ต้องอยู่ในห้องเดียวกันหรือสัมผัสใกล้กันอันจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ลงได้

ภายหลังจากที่ กสทช. ประกาศผลผู้ชนะการประมูล 5G ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ประกอบการร่วมกับพันธมิตรต่างก็เร่งเดินหน้าทดสอบเครือข่าย ณ สถานที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ การผลักดันให้สามารถเริ่มเปิดใช้บริการ 5G ได้จริงตามกำหนดเวลาจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลแล้ว เทคโนโลยี 5G และ Digital Infrastructure ต่างๆ ยังเปรียบเสมือน enabler ที่ทำให้เกิด physical distancing, but social proximity ที่ช่วยให้ผู้คนยังสามารถเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่คาดว่าจะยาวนานของ COVID-19 นั่นเอง