文章

PRECISION MEDICINE

09/11/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้ามาในขั้นตอนและกระบวนการให้บริการเช่นกัน และเมื่อองค์ความรู้ทางการแพทย์ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงส่งผลให้เกิดการคิดค้นแนวทางการรักษาโรคใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนสามารถเข้ามาช่วยปลดล็อคข้อจำกัดของการรักษารูปแบบเดิมที่เป็นไปโดยไม่คํานึงถึงลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล โดยการแพทย์แม่นยํา (Precision Medicine) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งการรักษารูปแบบใหม่นี้ต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีด้าน จีโนมิกส์มาใช้ในการถอดรหัสทางพันธุกรรมอย่างละเอียดและนำมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจําวัน ข้อมูลทางสุขภาพ ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนนอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้คาดการณ์การเกิดโรคเพื่อช่วยในการวางแผนการป้องกันได้อีกด้วย

โดยปัจจุบันได้มีการนำการแพทย์แม่นยํามาใช้กับหลายกลุ่มโรคอาทิเช่น กลุ่มโรคหายากที่มักได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งการแพทย์รูปแบบใหม่นี้ช่วยให้สามารถตรวจพบสาเหตุของโรคได้อย่างรวดเร็วจึงนำไปสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็วขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดค่ารักษาพยาบาลจากการรักษาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วย หรือ กลุ่มโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังที่สามารถนำข้อมูลทางพันธุกรรมมาช่วยในการกำหนดวิธีรักษาแบบจำเพาะและคัดเลือกยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุด เนื่องจากแต่ละบุคคลมีรหัสพันธุกรรมที่ต่างกันออกไปซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีการตอบสนองต่อโรค ยา และสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปเช่นกัน

ถึงแม้การแพทย์แม่นยำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอดีตเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดสวนทางกับต้นทุนนั้นจึงทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงการรักษาด้วยการแพทย์แม่นยำถูกลงและส่งผลให้การแพทย์รูปนี้มีแนวโน้มเติบอย่างต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัยตลาด Precedence Research ระบุว่า มูลค่าตลาดการแพทย์แม่นยำทั่วโลกจะเติบโตขึ้นจาก 66 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 เป็น 176 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 11.5 ต่อปีเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการแพทย์แม่นยำยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ภาครัฐก็ได้มีความพยายามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยปี 2020-2024ที่หนึ่งในนั้นมีโครงการพัฒนาศูนย์บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำโดยมีพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นำร่องซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปสู่มาตรฐานการแพทย์ใหม่ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากศูนย์จีโนมิกส์ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐแล้วนั้นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำเองก็เริ่มเล็งเห็นโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถด้านการแพทย์จึงได้มีการนำเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำมาใช้ในการให้บริการเช่นกัน

ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะเร่งพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ทันสมัย รวมถึงยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก อันจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและพัฒนาไปสู่การเป็น Medical Hub อย่างยั่งยืนนั่นเอง