文章

QUANTUM COMPUTING

25/11/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในโลกที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง Quantum Computing หรือการประมวลผลควอนตัม ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยการอาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัม ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้พร้อมกันด้วยความเร็วที่มากกว่าคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมหลายเท่าตัว ความสามารถดังกล่าวนี้ช่วยให้การคำนวณและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลที่ซับซ้อนซึ่งวิธีการแบบดั้งเดิมไม่สามารถจัดการได้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

โดยเทคโนโลยี Quantum มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยความสามารถในการจำลองสถานการณ์ความเป็นไปได้ต่าง ๆ จากข้อมูลที่ซับซ้อนและหาทางเลือกที่ดีที่สุดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคการเงินและการธนาคาร หรือการจำลองโมเลกุลและปฏิกิริยาเคมีในขั้นตอนการพัฒนาสูตรทางเคมีสำหรับผลิตยา หรือแม้แต่การจำลองสภาพอากาศและการคำนวณวงโคจรสำหรับการส่งยานอวกาศและดาวเทียม นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีศักยภาพในการพัฒนาภาคพลังงานด้วยการเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจแหล่งทรัพยากรอันจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อช่วยลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มเสถียรภาพไปพร้อมกัน

ด้วยศักยภาพอันยิ่งใหญ่นี้ รัฐบาลทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนทั่วโลกที่สูงถึงกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 จะมีมูลค่าสูงถึง 106 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีความโดดเด่นและได้มีการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Quantum Computing อย่างจริงจัง ดังสะท้อนจากงบประมาณที่รัฐบาลลงทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหภาพยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกามีงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ตระหนักถึงความสำคัญ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง IBM, Google, Intel และ Microsoft ต่างก็เร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะของเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมก็เริ่มนำ Quantum Computing มาประยุกต์ใช้ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Boeing ที่พัฒนาอัลกอรึทึมเพื่อหาวัสดุที่แข็งแรงและน้ำหนักเบาที่สุดเพื่อพัฒนาการออกแบบอากาศยานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ JPMorgan Chase ที่กำลังพัฒนาอัลกอริธึมสำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Biogen และ Roche ก็ใช้ในการจำลองโมเลกุลเพื่อค้นหายาใหม่ เป็นต้น

แม้ว่า Quantum Computing อาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังไม่แพร่หลายในภาคธุรกิจมากนัก แต่ Gartner คาดการณ์แนวโน้มที่น่าสนใจว่า ภายในปี 2025 องค์กรขนาดใหญ่กว่า 40% จะเริ่มดำเนินโครงการเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง นอกจากนี้ ภายในปี 2029 ความก้าวหน้าของการประมวลผลจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้การเข้ารหัสแบบดั้งเดิมไม่ปลอดภัยอีกต่อไป Quantum Computing จึงเป็นเสมือน Game Changer ต่อภาคอุตสาหกรรมของโลกและจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมในอีกไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในหลายด้าน ทั้งการเตรียมความพร้อม การศึกษาความเป็นไปได้ และการประเมินผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ตลอดจนการวางแผนพัฒนาทักษาบุคลากรเพื่อให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคการประมวลผลควอนตัมนั่นเอง