文章

EEC & PORT INFRASTRUCTURE

24/10/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นวิธีการขนส่งสำคัญที่ใช้กันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งจากการศึกษาผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและคุณภาพท่าเรือของประเทศไทยจากทั้ง WEF และ IMD ผู้เขียนพบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับปีล่าสุดจาก WEF อันดับที่ 68 และ IMD อันดับที่ 43 เปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่ได้รับการจัดอันดับที่ 66 และอันดับที่ 44 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในพื้นที่ EEC จึงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของภาครัฐที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทางน้ำ ตลอดจนเชื่อมโยงเส้นทางเพื่อการนำเข้าส่งออกของประเทศ

นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2534 ท่าเรือแหลมฉบัง (LCB) เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีการเติบโตอย่างมากและกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยท่าเรือตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 8,700 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 15 ท่า สามารถรองรับได้ตั้งแต่เรือสินค้าทั่วไปจนถึงเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) ซึ่งการดำเนินการพัฒนาเฟสที่ 3 บนพื้นที่กว่า 1,600 ไร่ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้มากกว่า 15 ล้านทีอียูต่อปี ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่การเป็นท่าเรือที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังยังครอบคลุมถึงโครงการพัฒนาระบบรางภายในท่าเรือเพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันวิธีการขนส่งภายในท่าเรือแบ่งเป็นสัดส่วนของรถบรรทุก 87.5% ทางเรือชายฝั่ง 7% และทางรถไฟ 5.5% โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มวิธีการขนส่งทางรถไฟให้ได้ 30% ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางของโครงการพัฒนาระบบรางอื่นๆ เข้ากับโครงการระบบรางของท่าเรือตามที่วางแผนไว้แล้วเสร็จก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุน Logistics ของผู้ประกอบการในระยะยาว ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาและอุบัติเหตุการจราจรภายในท่าเรือได้

สำหรับท่าเรือมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมหลักสำหรับการขนถ่ายสินค้าประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและเคมีภัณฑ์ผ่านท่าเทียบเรือที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 32 ท่า โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจและผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะทั้งสิ้น 12 ราย มีความสามารถขนถ่ายสินค้ารวมประมาณ 43 ล้านตันต่อปีซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานเต็มศักยภาพของท่าเรือแล้ว รัฐบาลจึงกำหนดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 บนพื้นที่ขนาด 1,000 ไร่ ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 16 ล้านตันต่อปี อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และสนับสนุนการนำเข้าของเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bio-Economy ที่มีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันสำนักงาน EEC และหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการออกประกาศเชิญชวนสำหรับทั้ง 2 โครงการเพื่อสรรหาผู้ร่วมลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรือ PPP EEC Track ร่วมกับเมกะโปรเจคอื่นๆ ที่เป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางอากาศ ทางราง ทางบก และทางน้ำอย่างครบวงจรอันจะช่วยส่งเสริมให้ภาคตะวันออกของไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลงเท่านั้น แต่ยังช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น Logistics Hub เชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย