文章
DROUGHT TECHNOLOGY
22/04/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากรายงานที่เปิดเผยว่า หากปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำ อาทิ สภาวะเรือนกระจก ปัญหามลพิษในแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไขในทิศทางที่ถูกต้องเมื่อรวมกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการเติบโตของประชากร องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ก็คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งหรือกว่า 7 พันล้านคนจาก 60 ประเทศทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และทำให้หลายประเทศเริ่มมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
อิสราเอลเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของประเทศที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นทะเลทรายและกลายมาเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการบริหารจัดการน้ำที่ก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยตัวอย่างโครงการที่สำคัญของอิสราเอล ได้แก่ โครงการ Water Desalination หรือการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ที่ปัจจุบันสามารถรองรับการผลิตน้ำดื่มได้ถึงร้อยละ 80 ของความต้องการในประเทศ หรือ โครงการ Recycled Water ที่มีการนำน้ำเสียกลับมาบำบัดเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมได้สูงถึงร้อยละ 75 เลยทีเดียว
ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยก็ประเมินว่า ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะฝนแล้งที่ยาวนานเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าปกติโดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงเป็นวาระเร่งด่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องวางแผนร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่ของโครงการ EEC ที่จะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรตามการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมซึ่งเมื่อโครงการพัฒนาครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนงานที่วางไว้ก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
สำนักงาน EEC ร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำจึงได้มีการหารือและจัดทำแผนงานสำหรับการบริหารจัดการน้ำระยะยาวโดยการพิจารณาจากแหล่ง Supply และประมาณการการเติบโตของ Demand การใช้น้ำภายในพื้นที่โครงการ เนื่องจากพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ติดทะเลจึงทำให้เทคโนโลยี Desalination มีความน่าสนใจและถึงแม้ว่าเทคโนโลยี Desalination จะมีมานานหลายปีแล้วก็ตามแต่ในอดีตยังมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงจึงไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันก็ทำให้ต้นทุนลดต่ำลงมาเรื่อยๆ เทคโนโลยี Desalination จึงกลายเป็นอีกทางเลือกสำหรับการนำมาใช้เป็นแหล่งการผลิตน้ำจืดภายในพื้นที่โครงการ EEC ร่วมกับแหล่งอื่นๆ อาทิ การผันน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อใช้รองรับความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แผนการบริหารจัดการระยะยาวทั้งด้านการจัดหาปริมาณน้ำที่เพียงพอ รวมถึงมีราคาต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งหากแต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยหนึ่งในรูปแบบความร่วมมือที่ผู้เกี่ยวข้องควรนำมาพิจารณา คือ โครงการเมกะโปรเจคร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) ที่ช่วยทำให้เกิดการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนของการจัดหาน้ำที่มาจากแหล่งผลิตแตกต่างกันอันจะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน
นอกจากการกำหนดแผนงานเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะการขาดแคลนน้ำในอนาคตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนก็ยังรวมถึงกระบวนการปลูกผังจิตสำนึกและความตระหนักรู้ของทุกภาคส่วนในการใช้น้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่านั่นเอง