文章
ELECTRIC TRUCK
26/01/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อทั่วโลกต่างเร่งแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุตสาหกรรมยานยนต์จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางตรงและส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไร้มลพิษ
ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดทำให้แบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้ามีศักยภาพสูงขึ้นสวนทางกับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยดึงดูดให้บรรดาค่ายรถยนต์หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดกันมากขึ้น ประกอบกับนโยบายที่มุ่งสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบของนานาประเทศนั้น ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นอกจากรถยนต์ขนาดเล็กที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านแล้วเราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือรถบรรทุกไฟฟ้า (Electric Truck) ขึ้นมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอีกไม่ช้าเช่นกัน โดยสำนักวิจัย MarketsandMarkets คาดการณ์ว่า จำนวนรถบรรทุกไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 70,000 คันในปัจจุบันเป็น 1.4 ล้านคันในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 40 เลยทีเดียว
ปัจจุบันค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกต่างก็กำลังเร่งพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงออกสู่ตลาด อาทิเช่น Tesla Semi Truck, Volvo VNR Electric, BYD Class 8 Day Cab ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจากหลากหลายอุตสาหกรรมก็พร้อมเดินหน้าสู่การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง FedEx หรือธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Walmart ได้ตั้งเป้าเปลี่ยนรถบรรทุกและรถที่ใช้ส่งของทั้งหมดให้เป็นไฟฟ้าภายในปี 2040เป็นต้น
โดยการนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งสินค้าแทนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันนั้น นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนทั้งในแง่น้ำมันเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษาได้เป็นอย่างดี โดยผลการวิจัยของ Berkeley Lab ระบุว่า ปัจจุบันต้นทุนในการเป็นเจ้าของรถบรรทุกไฟฟ้าหนึ่งคันนั้นต่ำกว่ารถบรรทุกที่ใช้น้ำมันร้อยละ 13 ซึ่งช่วยประหยัดได้กว่า 200,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐตลอดอายุการใช้งาน และในปี 2030 ต้นทุนในการเป็นเจ้าของรถบรรทุกไฟฟ้านั้นจะต่ำกว่ารถบรรทุกน้ำมันถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถบัส รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ยังพิจารณาให้มีการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในแง่ของการส่งเสริมสถานีชาร์จและการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนอกเหนือจากภาครัฐแล้วภาคเอกชนเองก็ให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถบรรทุกไฟฟ้าเช่นกัน อาทิ การร่วมทุนระหว่าง CP Group และ Foton Motor Group เพื่อผลิตและจำหน่ายรถบรรทุกไฟฟ้า หรือ การร่วมมือของ NEX กับพันธมิตรเพื่อทำการทดสอบยานยนต์หัวลากไฟฟ้าสำหรับนำไปใช้ในการขนส่งสินค้าทดแทนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมัน เป็นต้น
ถึงแม้การใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุม รวมถึงระยะทางวิ่งที่จำกัดและระยะเวลาในการชาร์จของรถเอง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนั้นก็จะค่อยๆ ทำลายข้อจำกัดเดิมที่มี และทำให้การเปลี่ยนสู่รถบรรทุกไฟฟ้านั้นสามารถช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นนั่นเอง