文章
SUSTAINOVATION
01/05/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังสะท้อนจาก วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ อาทิ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก อุทกภัย ภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง และ ไฟไหม้ป่า เป็นต้น ที่ได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำ ที่ได้เปิดเผยว่าร้อยละ 46 ของบริษัทในปัจจุบันมีความต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดหา คู่ค้า หรือพันธมิตร มีความคำนึงถึง/ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังต้องมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Criteria) อีกด้วย ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว Business Wire ก็ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคและพบว่าร้อยละ 66 ของผู้บริโภคทั่วโลกยินยอมที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้สินค้าดังกล่าวจะมีราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไปก็ตาม
นอกจากนี้ การพัฒนาและการเลือกใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ นวัตกรรมแห่งความยั่งยืน (Sustainovation) ก็กำลังได้รับความสนใจและถูกนำมาปรับใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังสะท้อนจากข้อมูลทางสถิติของศูนย์วิจัย BloombergNEF ที่ได้เปิดเผยถึงตัวเลขการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวทั่วโลกเป็นมูลค่ารวมกว่า 755 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว หากพิจารณาถึงประเภทของเทคโนโลยี Gartner บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ก็ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีเกิดใหม่ อาทิ ความยั่งยืนของคลาวด์ (Cloud Sustainability), เครื่องมือวัดผลคาร์บอน (Carbon Footprint Measurement) และ ซอฟต์แวร์การจัดการกริดขั้นสูง (Advanced Grid Management Software) เป็นต้น ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2025 นี้
สืบเนื่องจากเทรนด์ดังกล่าว ภาคธุรกิจก็ต่างมีความพยายามพัฒนา/ ปรับใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น WHA Group ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ภายใต้ภารกิจ “Mission to the Sun” ที่ได้นำเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ SDGs ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งในการวางกลยุทธ์สำหรับพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ อาทิ โครงการ Green Logistics ที่ได้นำเทคโนโลยีสีเขียวมาช่วยลดต้นทุน เสริมศักยภาพของการให้บริการด้านโลจิสติกส์ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการบรรลุ Net Zero Greenhouse Gas ภายในปี 2050 โดยกลุ่มบริษัทฯ เองก็ได้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วตั้งแต่ปี 2020 อีกทั้งยังมี โครงการ Circular ที่ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Ecosystem ของ WHA Group เป็นต้น
แม้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้โลกพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม การหาสมดุลระหว่างการพัฒนาดังกล่าวกับความยั่งยืน นั้นนับเป็นเรื่องสำคัญที่มิอาจมองข้าม อันจะช่วยให้การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างจริงในระยะยาวนั่นเอง