文章
Thriving in the Era of AI
26/06/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หากย้อนเวลากลับไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา “อินเทอร์เน็ต” นั้นเปรียบเสมือนโครงข่ายสื่อสารขนาดยักษ์ครอบคลุมทั่วโลกที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันและได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความก้าวหน้าขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ไปพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งก็ย่อมส่งผลให้เกิด เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่เทคโนโลยีเดิมอย่างอินเตอร์เน็ตได้ในที่สุด
หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานและเข้าเยี่ยมชมบริษัท และ Startups ด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา อาทิ Open AI, Vayu Robotics, Snorkle AI และ Standford Human-center AI เป็นต้น ผู้เขียนพบว่า เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาประดิษฐ์เชิงสังเคราะห์ หรือ Generative AI นั้นได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังสะท้อนจาก use case ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่หลากหลายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายท่านก็ได้แสดงทรรศนะว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบนิเวศและแพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ สอดคล้องกับข้อมูลของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำ ที่ได้คาดการณ์ว่าเทคโนโลยี Generative AI นั้นจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity) ของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตและมีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
นอกจากนี้ McKinsey ก็ยังได้คาดการณ์ว่า Generative AI นั้นจะมีส่วนเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงกับรูปแบบการทำงานของบุคลากรด้วยเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยี Generative AI นั้นมีความเข้าใจในภาษาธรรมชาติ หรือ Natural Language ที่เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ถ่ายทอด ความคิดและสื่อสารในชีวิตประจำ ทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถสร้างผลกระทบต่องานที่มีความเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ หรืองานที่มีความละเอียดซับซ้อนได้มากขึ้น โดยได้ประเมินว่าการนำเทคโนโลยี Generative AI มา automate งาน จะช่วยให้บุคลากรสามารถประหยัดเวลาการทำงานได้ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว
คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยี AI จะกลายเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในโลกแห่งอนาคต การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับประเทศไทยเองก็ควรเร่งศึกษาความเป็นไปได้ ประเมินผลกระทบ และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลและด้านการศึกษา และภาคเอกชนเองก็ควรนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานและลดงาน routine ที่ต้องใช้เวลามากและมีความซับซ้อนน้อย ทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลาไปกับในงานเชิงคิดวิเคราะห์ หรือการสร้างสรรค์งานที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรฐกิจได้มากขึ้น เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม การวางแผน upskill/ reskill บุคลากรให้มีความพร้อมและทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ AI, automation เป็นต้น ให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ ย่อมช่วยให้บุคลากรชาวไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมรองรับจุดหมายของการย้ายฐานการผลิตและการลงทุน (relocation) ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ในระยะยาวนั่นเอง