文章

SUSTAINABLE LOGISTICS

16/09/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาควบคู่กับกระแสการใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเทรนด์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ Logistics 5.0 และ Green Logistics ที่มีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง

จากโมเดลของ Industry 5.0 ที่ตั้งอยู่บนฐานการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตโดยประสานการทำงานระหว่างมนุษย์ (Human) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robot) เข้าด้วยกัน แนวคิด Logistics 5.0 ที่วิวัฒนาการต่อยอดจาก Logistics 4.0 จึงมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพและ Human-machine Collaboration รวมถึงได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ Internet of Things (IoTs), Blockchain, Digital Twin ฯลฯ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับแต่ง (customization) ความเฉพาะเจาะจง (personalization) ความยืดหยุ่น (flexibility) และการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล (data-driven decision making) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย อย่างไรก็ตาม Logistics 5.0 ก็ไม่ได้ละเลยประเด็นด้านความยั่งยืนโดยยังคงมุ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด

ในขณะที่ Green Logistics ก็เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ และกระจายสินค้าเพื่อลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน การจัดวางตำแหน่งที่ตั้งคลังและศูนย์กระจายสินค้าโดยคำนึงถึงระยะเวลาการรอคอยและขนส่งสินค้า (Lead & Delivery time) การรวมสินค้าหลายรายการเข้าด้วยกัน หรือการลดจำนวนรถเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มคันรถ (Backhaul & Full Truck Load) เป็นต้น

ทั้งสองแนวคิดจึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดย Logistics 5.0 สามารถสนับสนุน Green Logistics เช่น การติดตั้ง IoTs เพื่อตรวจจับหรือแจ้งเตือนการปล่อยมลพิษ ระบบ Automated Guided Vehicle (AGV) และ AS/RS (Automated Storage/ Retrieval System) ภายในคลังสินค้าช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน หรือเทคโนโลยี Route Optimization สามารถวิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนเส้นทางที่ดีที่สุดโดยอัตโนมัติ ฯลฯ ในทางกลับกัน Green Logistics ก็สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแนวคิด Logistics 5.0 เช่น รถยนต์ไฟฟ้าช่วยประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง การวางแผนหรือคำนวณตำแหน่งที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งในระยะยาว เป็นต้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงนำทั้งสองแนวคิดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง FedEx เปิดบริการระบบคลาวด์เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนและประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากหมายเลข shipment หรือเรียกดูรายงานสรุปข้อมูลตามประเภทการขนส่งและประเภทบริการได้แบบเรียลไทม์ Amazon วิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนเพิ่ม hub กระจายสินค้าขนาดเล็กในเขตพื้นที่เมืองเพื่อให้พนักงานขนส่งสามารถใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรือเดินเท้าไปส่งพัสดุ WHA Group เปิดให้บริการ Mobilix ธุรกิจด้านกรีนโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั้งบริการยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า และแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชั่นการบริหารจัดการยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน

Sustainable Logistics ที่เกิดขึ้นจากการผสานแนวคิด Logistics 5.0 และ Green Logistics จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจแล้วยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่มีความยั่งยืนและตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย